ค้นหา

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หนุนเกษตรกรสกัดโรคในข้าวอินทรีย์ เพื่อไม่ให้ระบาด

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 586 ครั้ง

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมสนับสนุน ดูแลเกษตรกรจัดการโรคข้าว โดยใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus amyloliquefaciens ป้องกันโรคข้าวที่สำคัญในสภาพแปลงนา จ.พัทลุง
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.65 นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวของเกษตรกรชาว จ.พัทลุง เป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการตลาดนำการผลิต ปลูกข้าวต้องมีแหล่งจำหน่ายเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และเรื่องคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญกับการปลูกข้าว ซึ่งได้ดำเนินการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเรื่องการใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus amyloliquefaciens ป้องกันโรคข้าวที่สำคัญในสภาพแปลงนา จ.พัทลุง ซึ่งหากโรคข้าวเข้าทำลายจะสร้างความเสียหาย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง หากระบาดรุนแรงผลผลิตจะลดลงมากโดยเฉพาะโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคเมล็ดด่าง โรคถอดฝักดาบ และโรคใบจุดสีน้ำตาล

สำหรับแนวทางป้องกันการเกิดโรคเพื่อไม่ให้มีการระบาดรุนแรงต้องมีการจัดการแบบผสมผสาน ซึ่งแนวทางการใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ ลดการใช้สารป้องกันกำจัดโรคข้าว เป็นทางเลือกที่ป้องกันกำจัดโรคข้าวในกลุ่มเกษตรกรที่ลดการใช้สารเคมี หรือเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งเริ่มด้วยการแช่หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ป้องกันโรคจากเชื้อราสาเหตุโรคโดยเฉพาะโรคถอดฝักดาบ และโรคอื่นๆ การฉีดพ่นป้องกันการเกิดโรคในระยะข้าวต่างๆ 4 ระยะ อัตรา การใช้ชีวภัณฑ์ 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พื้นที่ 1 ไร่ ในระยะต่างๆ และฉีดพ่นเพิ่มเพื่อป้องกันในสภาพที่เสี่ยงเมื่อปัจจัยเหมาะสม เปรียบเทียบกับการจัดการแบบของเกษตรกร ในพื้นที่ อ.เมือง เขาชัยสน ป่าพะยอมและ ควนขนุน จ.พัทลุง จำนวน 17 แปลง ข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ฤดูนาปี 2564 แปลงที่มีการจัดการโรคข้าวโดยชีวภัณฑ์ Bacillus-amyloliquefaciens ทั้ง 17 แปลง ไม่พบการเข้าทำลายโรคถอดฝักดาบ โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง แต่พบการเข้าทำลายโรคใบจุดสีน้ำตาลและโรคเมล็ดด่าง

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หนุนเกษตรกรสกัดโรคในข้าวอินทรีย์ เพื่อไม่ให้ระบาด

เมื่อประเมินการเกิดโรค ซึ่งความรุนแรงของโรคใบจุดสีน้ำตาลของข้าวหลังจากพ่นชีวภัณฑ์ พบว่ากรรมวิธีที่ใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ B. amyloliquefaciens ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีของเกษตรกร ซึ่งพบว่าสภาพแปลงนามีอาการโรคเมื่อประเมินการเกิดโรคและความรุนแรงโรคต่ำ แต่เมื่อประเมินการเกิดโรค และความรุนแรงของโรคเมล็ดด่าง พบว่า กรรมวิธีที่ใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ B. amyloliquefaciens ละลายน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัดโรคซึ่งเปอร์เซ็นต์การความรุนแรงของโรคเมล็ดด่างในระยะออกรวงมีค่าเฉลี่ย 8.65 ซึ่งกรรมวิธีของเกษตรกร พบอาการเปอร์เซ็นต์ความรุนแรงของโรค 12.09 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีของเกษตรกร ดังนั้น การใช้ชีวภัณฑ์ปฏิปักษ์ B. myloliquefaciens แบบแกรนูลละลายน้ำฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่างสามารถลดเปอร์เซ็นต์ความรุนแรงโรคเมล็ดด่างได้.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2586855