ปี 2549 กลุ่มงานวิจัยพันธุ์พืชป่ามีค่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจพบป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สักธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก เป็นบริเวณกว้างพื้นที่ต่อเนื่องกันกว่า 60,000 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อ.เมือง และ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
เป็นป่าที่ฟื้นตัวจากการสัมปทานทำไม้ในอดีต จนกระทั่งมีการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปายขึ้นในปี 2515
“ป่าแห่งนี้มีไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และมีทรงต้นใหญ่สวยงาม เป็นป่าสักผืนที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศ และยังพบว่าไม้สักที่นี่สามารถขึ้นได้ที่ระดับความสูงถึง 1,300 เมตร จากที่เคยมีการบันทึกไว้ไม่เกินระดับความสูง
750 เมตร ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยได้พระราชทานชื่อผืนป่านี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” ต่อมาจึงเกิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบริเวณลุ่มน้ำปายควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า ทำให้ชาวบ้านนอกจากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้”
นางสาวนภาพร ปูเงิน ชนเผ่ามูเซอ ราษฎรหมู่บ้านนาอ่อน ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกับป่าสัก ที่ถือเป็นการกระจายพันธุ์ไม้ที่แปลกที่สุด บนพื้นที่ประมาณกว่า 60,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล สมควรที่จะรักษาไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
เนื่องจาก พื้นที่ป่าอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน ฉะนั้น การจะอนุรักษ์ป่าจะต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ด้วย และเมื่อมีความเป็นอยู่ดี คนจะไม่ไปใช้ทรัพยากรจากป่ามากนัก
“ตั้งแต่มีโครงการทุกคนในหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนในการประกอบอาชีพ ได้รับความรู้ในการทำกินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และความรู้เกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้สัก ทุกคนช่วยกันดูแลป่า เมื่อป่าสมบูรณ์ธรรมชาติดีขึ้น มีน้ำสมบูรณ์ ดินก็สมบูรณ์ตามไปด้วย โดยปีที่แล้วทางโครงการได้ให้เมล็ดพันธุ์ผักและให้ความรู้ในการเพาะปลูก เช่น ฟักทองควรปลูกเดือนไหนถึงจะดีทั้งผลผลิตและตลาด ถั่วลิสงปลูกเดือนไหน เก็บเกี่ยวเดือนไหนที่ไม่ทำให้ราคาตก รวมถึงวิธีการดูแลการเติบโตของพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไป ทำให้มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทุกปีผลผลิตที่นี่จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก เพราะเป็นผลผลิตที่ตลาดต้องการและมีราคาดี อาทิ เผือกหอม ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วญี่ปุ่น และขิง”
ล่าสุด นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. นายสว่าง กองอินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางลง พื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่โครงการ
พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์ของโครงการพบว่า การดำเนินงานในปีนี้มีความคืบหน้าในหลายกิจกรรม อาทิ การจัดฝึกอบรมหลักสูตรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รส.ทป.) มีการจัดทำแนวกันไฟระยะทาง 75 กม. ควบคู่กับการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า 150 ไร่ โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วม สามารถลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้นอีก 25 ไร่ และส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน ให้แก่ราษฎร 4 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน (กลุ่มบ้าน) 654 หลังคาเรือน.