ภารกิจตามโครงการ “ฟอร์ดแกร่งทุกงานเกษตร” เดินทางไปชมชมพู่เมืองเพชร หรือชมพู่เพชรสายรุ้ง สินค้าจีไอคู่บ้านคู่เมือง จ.เพชรบุรี ปลูกกันแทบทุกหลังคาเรือน…ว่ากันว่าปลูกแค่ 4 ต้น สามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญาได้
ด้วยมีราคาค่อนข้างสูง กก.ละ 300-400 บาท แต่ต้องแลกกับต้นทุนที่สูงจากการห่อผลกันแมลง และค้างไม้ไผ่รอบต้น ที่ต้องมีไว้เพื่อการปีนห่อและเก็บผลผลิต จนกลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวที่ไม่เห็นในไม้ผลชนิดอื่น
“ชมพู่เมืองเพชร สร้างรายได้ดีให้กับชาวบ้าน 1 ต้น เก็บผลผลิตได้ 3-4 ครั้ง เฉลี่ยทำเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรได้ต้นละประมาณ 120,000 บาท รวมถึงสร้างอาชีพใหม่ๆ เช่น รับจ้างทำค้าง และเก็บผลผลิต ให้กับชาวบ้านปีละนับแสนบาท ซึ่งแต่ละครั้งถ้าอยากได้เกรดพรีเมียมก็ต้องจองกันก่อน เพราะมีผลผลิตส่วนหนึ่งส่งออกไปสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันพบปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง คือพื้นที่ปลูกลดลงทุกวัน เหลือเกษตรกรปลูกแค่ 152 ราย พื้นที่รวมเหลือเพียง 121 ไร่ เท่ากับเหลือพื้นที่ปลูกเฉลี่ยแค่คนละไม่ถึงไร่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่กำลังลืมเลือนสิ่งที่ถูกหล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรม อีกประการคือขาดการแปรรูป รวมถึงเอาลูกที่คัดทิ้งมาใช้ประโยชน์ จึงเป็นการบ้านใหญ่ของพวกเราชาวเมืองเพชร”
นายยุทธนา เมืองเล็ก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บอกถึงปัญหาของชมพู่เมืองเพชร ที่กำลังสั่งสมเพิ่มขึ้นทุกวัน…เรื่องของพื้นที่ปลูกที่ลดลง คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากรณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ ขณะที่เยาวชนก็รณรงค์ให้รักถิ่นฐาน วัฒนธรรม เพราะชมพู่เมืองเพชรเป็นแหล่งสร้างเงินให้กับทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน และเยาวชนที่รับจ้างเก็บผล ขณะที่แรงงานทำค้าง ก็ต้องเป็นแรงงานที่ชำนาญในระดับหนึ่ง เพราะเป็นงานค่อนข้างละเอียด
อีกปัญหาคือชมพู่ตกเกรด รวมถึงลูกที่ต้องคัดทิ้งประมาณ 70% เพื่อให้ต้นได้เลี้ยงลูกที่เก็บไว้ให้ได้ผลที่สมบูรณ์เกรดพรีเมียม อันเป็นภูมิปัญญาที่ทำกันมานานแล้ว เดิมมักเอาไปทำปุ๋ยหรือน้ำหมัก เราจึงคิดว่าน่าจะเอามาทำประโยชน์ได้มากกว่านี้สุดท้ายมาคิดได้ว่า ในเมื่อเพชรบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว มีชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นสินค้าจีไอ ฉะนั้น น่าจะพัฒนามาเป็นเมนูอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยว
สำหรับเมนูประกอบอาหาร… ความจริงขึ้นกับการประยุกต์ของแต่ละคน แต่ด้วยชมพู่เมืองเพชรมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ต่างจากชมพู่อื่นที่ลูกเล็กจะจืด แต่พอแก่จัดจะหวานอมเปรี้ยว จึงสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทยำ ไม่ว่าจะเป็นยำวุ้นเส้นหรือกุ้งสด หรือเอามาแทนมะละกอทำส้มตำ อีกเมนูที่มีคนทำแล้วคือกินร่วมกับขนมจีนน้ำยา เนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานผลิตเส้นขนมจีน รวมถึงใช้เป็นเครื่องเคียง แทนผักที่มีรสเปรี้ยวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ต้องไม่ผ่านกระบวนการความร้อน เพื่อให้กลิ่นและรสชาติของชมพู่ยังคงอยู่.