ค้นหา

มก.-ซีพีเอฟ ชู “ปลาหยก วากิวแห่งสายน้ำ” อุดมด้วยโอเมก้า 3 สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)
เข้าชม 452 ครั้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายบูรณาการส่วนงานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มก. เป็นประธานแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “นวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง” พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กรมประมง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกิดแนวคิดในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จของผู้ประกอบการด้านการประมงสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง  ตลอดห่วงโซ่ ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค นิสิต และผู้สนใจ ผ่านนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการ การสาธิตเมนูอาหาร และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมี นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุด ด้านงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ร่วมด้วย ณ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก กล่าวว่า มก. มีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (KU-Lifelong Learning Model) เชื่อมโยงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติกับบทบาทของมหาวิทยาลัย และบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อยกระดับความรู้ นวัตกรรม ผ่านสินค้าและบริการคุณภาพ ควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบกับปีนี้เป็นปีของการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปีของมหาวิทยาลัยฯ จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “นวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง” ในช่วงงานเกษตรแฟร์ ระหว่างวันที่ 3 – 11 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมให้ผู้เยี่ยมชมภายในงาน พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ Online อีกด้วย

การเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ หัวข้อที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ “ปลาหยก วากิวแห่งสายน้ำ” สัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย จากซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีและจำเป็นต่อร่างกาย เช่น ไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และความดันสูง รวมทั้ง DHA (Docosahexaenoic Acid) ที่มีส่วนช่วยบำรุงเซลล์ประสาท สมอง และดวงตา เสริมภูมิคุ้มกันให้เด็ก ลดอาการอ่อนล้าจากการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีคอลลาเจนที่จะช่วยทำให้ผิวพรรณดี ลดการปวดข้อต่อ และชะลอการสลายของมวลกระดูก ที่เลี้ยงจากกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยได้มาตรฐานสากล ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร กล่าวว่า ปลาหยก หรือ (Jade Perch) ชั้นเลิศจากซีพีเอฟ ได้รับความนิยมจากร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำมากกว่า 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ร้าน An Com An Ca (อันเกิม-อันก๋า) ร้านข้าวต้ม ฟ้า ปลา ทาน จาก iberry ร้าน WAH LOK โรงแรมคาร์ลตัน ภัตตาคาร HEI YIN เกษรพลาซ่า ภัตตาคารหนานหยวน ภัตตาคารฮองมิน ภัตตาคารเชียงการีล่า และร้านมาเรีย พิซซาเรีย สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีทันสมัยในห่วงโซ่การผลิตปลาหยก ตลอดจนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ผ่านระบบ Ultrafiltration เทคโนโลยีการหมุนเวียนน้ำ RAS (Recirculation aquaculture system) กำจัดของเสียในน้ำและหมุนเวียนน้ำใสคุณภาพดีกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค จึงส่งผลทำให้ปลาหยกแข็งแรง โตไว โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ มีคุณภาพ รสชาติอร่อย ไม่คาว และคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อสุขภาพที่ดีสู่ผู้บริโภคทั่วโลก

“ปลาหยก เป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะผู้นำ Apec 2022 โดยเชฟชุมพล ร่วมรังสรรค์เมนูชั้นเลิศ สร้างความประทับใจแก่ผู้นำระดับโลกจากประเทศต่างๆ ที่ได้ลิ้มลองเป็นอย่างมาก สะท้อนศักยภาพของปลาหยก ทั้งด้านรสชาติที่ดี ความอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการสูง สร้างความภาคภูมิใจให้กับบริษัทฯ และประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดปลาหยกให้เป็นที่รู้จักและผลักดันให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ของไทย เพราะนอกจากส่งเสริมสุขภาพที่ดีสู่ผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยกันลดโลกร้อนจากกระบวนผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกได้ทางหนึ่งด้วย” นายเปรมศักดิ์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจชมนวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อต่อยอดความคิดเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ และอุดหนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงคุณภาพ แวะมาได้ที่ “งานเกษตรแฟร์” ตั้งแต่วันที่ 3 -11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารวิทยบริการ ใกล้ประตู 1 งามวงศ์วาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟรีตลอดงาน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://kasettumkin.com/agribusiness/article_80298