อธิบดีกรมชลประทาน ชี้การจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั่วประเทศเป็นไปตามแผน อีก 3 เดือนสิ้นสุดฤดูแล้ง คาดต้นฤดูฝนปี 66 จะมีน้ำต้นทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา ย้ำแม้ระหว่างนี้ไม่เกิดภัยแล้ง แต่ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้กรณีฝนมาช้าหรือทิ้งช่วง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2565/66 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยภาพรวมทั้งประเทศ มีแผนจัดสรรน้ำ 43,740 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรเพื่อให้เพียงพอกับทุกกิจกรรม 27,685 ล้าน ลบ.ม. (63%) และสำรองต้นฤดูฝน 16,055 ล้าน ลบ.ม. (37%) และได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 8 ล้านไร่ (76%)
สำหรับลุ่มเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำทั้งสิ้น 14,074 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรเพื่อให้เพียงพอกับทุกกิจกรรม 9,100 ล้าน ลบ.ม. (62%) และสำรองต้นฤดูฝน 5,474 ล้าน ลบ.ม. (38%) แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 6.64 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 5.6 ล้านไร่ (84%) ส่วนลุ่มแม่กลอง มีแผนจัดสรรน้ำทั้งสิ้น 8,964 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรเพื่อให้เพียงพอกับทุกกิจกรรม 5,500 ล้าน ลบ.ม. (61%) และสำรองต้นฤดูฝน 3,964 ล้าน ลบ.ม. (39%) แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 840,000 ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 30,000 ไร่ (3%)
ทั้งนี้ อีก 3 เดือนจะสิ้นสุดฤดูแล้ง กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำเพื่อให้ครบทุกกิจกรรมและทุกภาคส่วน โดยจัดสรรน้ำแบบประณีตและจัดรอบเวรการส่งน้ำ จากนั้นวันที่ 1 พ.ค.66 จะเป็นวันเริ่มต้นการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีน้ำทั้งประเทศอยู่ประมาณ 42,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2565 อยู่ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ในลุ่มเจ้าพระยามีน้ำประมาณ 14,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2565 อยู่ 4,300 ล้าน ลบ.ม.
นายประพิศ กล่าวว่า ในฤดูแล้งนี้ กรมชลประทานดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.65 โดยกำหนดเป็น 6 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ บริหารน้ำในอ่าง/จัดหาแหล่งน้ำสำรอง/ตรวจสอบความต้องการ/จัดสรรตามกิจกรรมหลัก/สำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝน/ประเมินผลและประชาสัมพันธ์ โดยวางแผนการจัดสรรน้ำให้เพียงพอในกิจกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การสำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝน 3 เดือน หากฝนมาช้าหรือเกิดฝนทิ้งช่วง จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดคุณค่าสูงสุด แม้จะไม่มีภัยแล้งก็ตาม
พร้อมกันนี้ยังเร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ ในหลายพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยบรรเทาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เช่น ลุ่มน้ำชี ต้นน้ำ เน้นการเก็บกักน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุดในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชี เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 5 แห่ง จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 240 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 188,000 ไร่ ส่วนกลางน้ำ-ปลายน้ำ เป็นการหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำ ในตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสิ้น 94 โครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 184 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 73,692 ไร่ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและความมั่นคงด้านน้ำในลำน้ำชี อีกทั้งโครงการต่างๆ ยังเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลำน้ำชีได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังเดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นการขุดคลองระบายน้ำ เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถในการระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จะสามารถระบายน้ำได้รวมทั้งหมด 2,930 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลการดำเนินการ 26% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่กำลังดำเนินการยังมีอีกหลายโครงการ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคตะวันออกและเขต EEC ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล กรมชลประทานมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ