เลย – เกษตรกรปลูกดาวเรืองตัดดอกขายเป็นอาชีพที่ อ.ภูเรือหาทางเพิ่มมูลค่าดอกดาวเรืองด้วยการแปรรูปเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ หลังจากเผชิญปัญหาราคาขายไม่แน่นอนบางปีแพงหลายปีราคาดิ่งติดต่อกัน เผยในดอกดาวเรืองมีสารช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ ที่สำคัญแปรรูปเป็นชาขายได้ราคาสูงกว่าตัดดอกขายหลายเท่าตัว
“ดาวเรือง” เป็นไม้ดอกที่มีการปลูกทั่วไป หากปีไหนความต้องการมีมาก แต่ผลผลิตน้อย เกษตรกรผู้ปลูกก็ยิ้มออก ขายได้ราคาสูง ราคาแพงสุดอยู่ที่ดอกละ 2.50-3 บาท แต่หากช่วงไหนผลผลิตล้นตลาด ราคาจะร่วงลงมา หากำไรแทบไม่เจอ ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกเองพยายามจะหาวิธีการเพิ่มมูลค่าดอกดาวเรือง ด้วยการแปรรูปให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า “ดอกดาวเรือง” ไม่ได้มีดี แค่นำมาร้อยพวงมาลัยหรือจัดแจกันไหว้พระหรือทำเป็นมาลัยคล้องคอนักเลือกตั้งช่วงหาเสียงเท่านั้น แต่ยังมีสารสำคัญที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตาและบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย ดังกรณีกลุ่มเกษตรกรในอำเภอภูเรือ จ.เลย ได้นำดอกดาวเรืองแปรรูปเป็นชาดอกดาวเรือง บรรจุถุงขาย สร้างรายได้ดี
นางนฤดี ทองวัตร หรือคุณอุ๋ม เกษตรกรบ้านหนองบง อ.ภูเรือ จ.เลย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการแปรรูปชาดอกดาวเรืองว่า ครอบครัวของตนปลูกดอกดาวเรืองเป็นอาชีพมานานกว่า 13 ปี แต่หลายปีหลังมานี้ประสบปัญหาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง ราคาขายแต่ละปีไม่แน่นอน จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการสร้างรายได้จนค้นพบว่าในดอกดาวเรืองมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณได้ จึงต่อยอดจากจุดเด่นตรงนี้ ทดลองแปรรูปดาวเรืองทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะมองว่ากระแสรักสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้นจึงเบนเข็มจากการขายดอกสดเปลี่ยนมาแปรรูปทำเป็นชาดอกดาวเรือง ใช้เวลาทดลองปลูกดอกดาวเรืองในโรงเรือนนานกว่า 3-4 ปี ซึ่งการปลูกดาวเรืองแบบนอกโรงเรือนกับในโรงเรือนนั้นแทบจะ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ที่ต้องแยกปลูกเพราะเรามีเป้าหมายนำดอกไปใช้ที่แตกต่างกัน การแยกปลูกในโรงเรือนเพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีทุกชนิด นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มแสงสีแดงให้กับดาวเรืองเพื่อให้ได้สาระสำคัญเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ต้องหลีกเลี่ยงจากสารเคมีทุกชนิด ด้วยตัวของดอกดาวเรืองเองเป็นพืชที่ค่อนข้างดูดซับสารพิษในดินได้ไว ดังนั้น การปลูกในโรงเรือนถือเป็นวิธีที่ช่วยหลีกเลี่ยงสารเคมีได้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนคือจะต้องปลูกในถุง และต้องเป็นดินที่ไม่ได้ผ่านการใช้สารเคมีใดๆ มาก่อน” นางนฤดีกล่าว และว่า ปลูกในโรงเรือนอาจจะดูยุ่งยากไปสักหน่อย แต่การปลูกดาวเรืองเพื่อทำเครื่องดื่มชามีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องทำให้ดอกสวย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องตัดเพื่อนำมาอบอยู่แล้ว มีแมลงกัดหรือหนอนเจาะได้บ้าง
สำหรับการรดน้ำ เหมือนกับการปลูกดาวเรืองนอกโรงเรือนทั่วไป ช่วงย้ายปลูก ประมาณ 7 วัน ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปิดไฟสีแดง เทคนิคเพิ่มคุณภาพ เราเจอกับงานวิจัยของ ดร.เบญญา มะโนชัย ท่านเป็นอาจารย์สอนภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการวิจัยเทคนิคปลูกดาวเรืองสำหรับสกัดลูทีน แล้วเกิดความสนใจจึงได้มีการเรียนเชิญให้ท่านมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้มีการทดลองใหม่ทั้งหมด
ส่วนเทคนิคการใช้แสงไฟเพื่อรักษาสารสำคัญในดอกดาวเรืองนั้น จะเริ่มเปิดไฟตั้งแต่ช่วงที่ดาวเรืองมีตาดอกแล้ว ก็คือหลังจากปลูกได้ 45 วันขึ้นไป ช่วงระยะเวลาการเปิดจะแบ่งเปิดเป็น 2 ช่วง คือ 1. เปิดในช่วงเช้า ตี 4 ถึง 7 โมงเช้า และช่วงเย็น 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม เปิดไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
นางนฤดีเล่าถึงขั้นตอนการแปรรูป ต้องเก็บดอกดาวเรืองที่บานเต็มที่ ไม่ให้ติดเกสรออกมา เนื่องจากตรงส่วนของเกสรจะมีกลิ่นฉุน ล้างน้ำให้สะอาดนำไปผึ่งลมให้แห้งในที่อากาศถ่ายเทได้ดี หรือจะใช้วิธีอบก็ได้ กรณีเป็นตู้อบลมร้อนทั่วไปควรจัดเรียงไม่ให้กลีบดอกทับกันหนาเกิน 3 เซนติเมตร และอบในอุณหภูมิ 45-50 องศาเซลเซียส ไม่ให้เกินนี้ ใช้เวลาอบประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นนำมาบรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เตรียมจำหน่าย ดอกดาวเรืองสดจำนวน 1 กิโลกรัม เมื่อนำมาอบเป็นชาแล้วจะได้ประมาณ 100 กรัม
ชาดอกดาวเรือง 10 กิโลกรัม ขายในราคา 2,500-3,000 บาท ต่างจากการขายดอกสด 10 กิโลกรัม จะได้เงินประมาณ 300 บาท เมื่อมีการแปรรูป ทำชา สามารถเก็บไว้จำหน่ายได้นานเป็นปี ซึ่งดอกสดอยู่ได้แค่ 3-5 วัน จะกลายเป็นขยะทันที มีรายได้ ดีขึ้นกว่าตอนปลูกแบบเดิม ถือว่ามองว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพิ่มรายได้ได้มากกว่าก่อนนี้ถึง 50%
สรรพคุณ “ดอกดาวเรือง” มีสารแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) ชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบเป็นโมเลกุลที่มีออกซิเจน ได้แก่ ลูทีนและซีแซนธิน จัดเป็นสารบำรุงสายตาจากพืชมีสี โดยทั้งสองสารนี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ช่วยกรองแสงสีฟ้า และยังเป็นสารออกซิเดชัน ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่จะทำลายประสิทธิภาพการทำงานของจอประสาทตา โดยการนำเอาสารบำรุงสายตาจากดอกดาวเรืองมาใช้ แนะนำให้ชงเป็นชาดื่ม 1 หยิบมือต่อน้ำร้อน 1 แก้วกาแฟ เท่านี้ก็จะได้รับสารบำรุงสายตาที่ซ่อนอยู่ในดอกดาวเรืองแล้ว
ตลาดที่รองรับชาดาวเรือง ตอนนี้เป็นกลุ่มลูกค้าร้านชาต่างๆ 1. กลุ่ม “ชาเบลนด์” คือ การนำสมุนไพร ผลไม้ หรือดอกไม้อบแห้งตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ผสมลงไปในขั้นตอนการชงชา 2. กลุ่มชาเพื่อสุขภาพ และได้ลูกค้าเพิ่มจากการบอกกันปากต่อปาก ซึ่งร้านชาที่มีชื่อเสียงหลายๆ ร้าน ก็ใช้ชาของที่นี่เป็นวัตถุดิบหลัก มีทั้งลูกค้าจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภาคใต้ก็มี 3. วางขายหน้าร้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือ 4. ผ่านออนไลน์ “ช้อปปี้ (Shopee)” และ 5. เพจเฟซบุ๊ก ดีธรรมดา by ทุ่งดาวเรืองภูเรือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ โทร. 08-8021-4456 หรือติดต่อได้ที่เพจ : ดีธรรมดา by ทุ่งดาวเรืองภูเรือ