ค้นหา

เกษตรฯ เล็งสร้างต้นแบบทำเกษตรปลอดเผาแก้ฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
เข้าชม 468 ครั้ง

กระทรวงเกษตรฯ ระดมทุกหน่วยแก้วิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน วอนหยุดเผา ส่งเสริมไถกลบ พร้อมเล็งสร้างต้นแบบทำเกษตรปลอดการเผาในระยะต่อไป

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยมักเกิดในช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน รวมถึงจากการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ทั้งพื้นที่ทำนา  พื้นที่ปลูกอ้อย รวมทั้งพื้นที่บนที่สูงทางภาคเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี อีกทั้งแนวโน้มฝุ่นละออง ในช่วงเดือนมกราคม –  กุมภาพันธ์ 2566 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน คาดว่าจะรุนแรงกว่าปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ประกอบกับมีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เข้ามา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ ภาคเหนือ อาจเกิดผลกระทบด้านสุขภาพ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะยาวสั้นและระยะยาว ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยหลายกระทรวงและทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สำหรับการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร  วางแผนและดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ กับเกษตรกร และประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ประกอบด้วย 

-กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2566 รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป ซึ่งในปี 2566 มีเป้าหมายอบรมเกษตรกร จำนวน 17,640 ราย สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด 

-กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการส่งเสริมโครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีเป้าหมายในพื้นที่ 26,842 ไร่ครอบคลุม 9 จังหวัดภาคเหนือ และโครงการไถกลบตอซังเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและแร่ธาตุในดิน อีก 13,000 ไร่ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่นำร่องและตำบลต้นแบบ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม Kick off โครงการไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2566 และดำเนินการโครงการฯ อย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศ  

-กรมการข้าว ลดการเผาตอซังข้าว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนในดิน ส่งเสริมให้พี่น้องชาวนาหันมาช่วยกันลดการเผาตอซังข้าว และเปลี่ยนไปเป็นการไถกลบตอซังข้าวแทน ที่จะช่วยทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพดีขึ้น มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามให้ผลผลิตดี นอกจากนั้นทางกรมการข้าวยังส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยลดก๊าซมีเทนในดิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

-สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินในปีงบประมาณ2565 รวม 68 จังหวัด 45,000 ไร่  และในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่เป้าหมาย 44 จังหวัด จำนวน 10,000 ไร่ เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 1,000 ราย โดยสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันในการหวงแหนพื้นที่ ทั้งรักษาทรัพยากรธรรมชาติและ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรมาทดแทนการเผา อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

-กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่จ.เชียงใหม่ และ จ.ระยอง ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ในการป้องกันไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ และปริมณฑล

-กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง การพัฒนาอาหารหมักจากเปลือกและซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการ MOTOR POOL ศูนย์บริการยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะให้กับสัตว์ ช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการหมักในกระเพาะอาหารของสัตว์ได้ พัฒนาโคพันธุ์บราห์มันจากต่างประเทศ มาพัฒนาโคเนื้อภายในประเทศ ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารหยาบที่มีคุณภาพต่ำ ให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น โดยกระจายพันธุกรรมที่ดีสู่ฟาร์มเกษตรกรเครือข่าย ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

-กรมชลประทาน สนับสนุนน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยร่วมมือกับกรมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และดับไฟป่า แก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มีการศึกษาวิจัยต่างๆ ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรชนิดอื่นๆ อีกเช่นกัน มีการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงเกษตรกรและขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันตระหนักถึงปัญหา และผลที่จะตามมาจากการเผา เพราะนอกจากทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเกิดผลกระทบกับสุขภาพทั้งตนเอง ครอบครัว มาร่วมต้านหมอกควันที่มักจะเกิดขึ้นด้วยการหยุดเผาร่วมกันเฝ้าระวัง ส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืนร่วมกัน.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://tna.mcot.net/agriculture-1109387