โลกยุคใหม่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการบริโภค-แหล่งผลิตอาหาร-การผลิตภาคเกษตรกรรม-ระบบตลาดด้านอาหาร ของศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ “เกษตรลมเพลมพัด” หรือ “เกษตรตามมีตามเกิด” ที่ขาดความแม่นตรงทั้งด้านคุณภาพและปริมาณจะมีพื้นที่ในระบบตลาดอย่างจำกัดลงทุกวัน จนต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด! นี่คือความเป็นจริงของโลกในศตวรรษที่ 21! ส่วนเกษตรกรรมที่ปรับตัวในการผลิตและเข้าถึงกฎเกณฑ์ของตลาดยุคใหม่ ที่ผูกโยง “การผลิต” และ “ผลผลิต” เข้ากับความปลอดภัยด้านสุขภาพ-ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม-มีการจัดการเพิ่มผลผลิตจากการลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกัน ฯลฯ จะเป็นเกษตรกรรมที่มีอนาคต-มั่นคงยั่งยืน-เข้าถึงตลาดมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องตระหนักสนับสนุน-ส่งเสริมให้เท่าทันมาตรฐานและระบบตลาดในฐานที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกรรมของโลก!
ปัจจุบันมาตรฐานผลผลิต-กระบวนการผลิตหลอกกันไม่ได้ จาก “การตรวจสอบย้อนกลับ” ที่ใช้ระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ-ความก้าวหน้าของการสื่อสารยุคดิจิทัล ที่มีศักยภาพในการตรวจสอบแหล่งผลิตอาหารและผลผลิตที่ส่งออกและนำเข้า! ที่กำหนดด้วย “มาตรฐาน” และ “มาตรการ” ในสังคมโลก! ความเปลี่ยนแปลง-ความแม่นตรงของการตรวจสอบ ส่งผลให้การผลิตภาคเกษตรกรรม-ตลาดอาหาร-จนถึงตัวและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตต้องปรับตัวสร้างการเรียนรู้-พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดขึ้นจากตลาดและผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เกษตรกรผู้ผลิตทั้งหลาย
เกษตรกรรมในบ้านเมืองเราวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องวิธีคิดและมโนทัศน์ด้าน “เกษตรกรรม” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” บางกลุ่มยังคิดแบบเดิมที่ห่างไกลกับโลกศตวรรษที่ 21 มาก ขณะที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมบางกลุ่มยังมองประเด็นสำคัญเหล่านี้ผ่านปัญหาความยากจน-การร้องขอจากเกษตรกร ทำให้การผลิตของเกษตรกรบางกลุ่มตกอยู่ในมโนทัศน์ของเศรษฐกิจที่เลื่อนลอย-ร้องขอ-รอคอย ปรับตัวลำบาก มุ่งแต่ร้องขอ-เรียกร้อง-มุ่งทำลายกลุ่มธุรกิจที่ก้าวหน้าสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง-คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ ที่เป็นพัฒนาการของเศรษฐกิจครัวเรือนที่ก้าวหน้าถ่างช่องว่างกว้างออกทุกขณะได้! สภาพความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและข้อมูลข่าวสารที่ขาดความจริง-มองความจริงไม่หมด-ไม่ขาดเช่นนี้ ส่งผลให้สังคมการผลิตที่เคลื่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับความคิดในการผลิตภาคเกษตรกรรมมีทิศทางสะเปะสะปะ
เราคงต้องหันมาดู-พิจารณา-และรับรู้ถึงบางตัวอย่างของการปรับตัวเคลื่อนไหวของเกษตรกรหลายกลุ่มที่กำลังปรับตัวจาก “ปัจจุบันสู่อนาคต” เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างออกบ้าง ตัวอย่างจากกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เอฟทีเอส อำนาจเจริญ ที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ สร้างความร่วมมือกับ บริษัท ฟูดเทค โซลูชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จากเยอรมนี เป็นองค์กรการค้าที่ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์และมุ่งพัฒนาการค้าที่เป็นธรรม หรือแฟร์เทรด อินเตอร์เนชั่นแนล ชาวนากลุ่มนี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายปลูกข้าวอยู่ในท้องถิ่น มีการขึ้นทะเบียบสมาชิกและพื้นที่แปลงปลูก จัดฝึกอบรมการปลูกข้าวแบบออร์แกนิกตามมาตรฐานของยุโรป และ USDA มีการจัดการตั้งแต่ปรับฐานความรู้ของชาวนาให้เข้าใจถึงระบบการจัดการร่วมกันตั้งแต่ในแปลงนา การเก็บเกี่ยว การสีข้าว และบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งออกตามมาตรฐานที่ตลาดกำหนด ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกัน จัดการบริหารกลุ่มที่โปร่งใสเป็นธรรม เป้าหมายการผลิตมุ่งอยู่ที่ การลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิต/เพิ่มรายได้/ยกระดับคุณภาพชีวิต/และสร้างชุมชนปลอดสารเคมี การปรับตัวทำงานหนักร่วมกันของชาวนาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 5 ปี วันนี้ชาวนากลุ่มนี้มีรายได้สูงกว่าเดิมเป็นเท่าตัว และได้ค่าพรีเมียมข้าวจากระบบการค้าที่เป็นธรรม หรือแฟร์เทรดอีกด้วย! คุณภาพชีวิตหลังพลิกโฉมตัวเองสู่การผลิตใหม่ดีขึ้นชัดเจน เงินพรีเมียมข้าวจากแฟร์เทรดถูกนำไปปรับปรุงแหล่งน้ำ/สิ่งแวดล้อมในตำบลแมค ตำบลอำนาจ ตำบลปลาค้าว และตำบลเค็งใหญ่ ในจังหวัดอำนาจเจริญ แบบไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐแม้แต่บาทเดียว นี่คือศักยภาพที่พลิกมุ่งฟื้นสภาพอ่อนล้าของเศรษฐกิจครัวเรือนในแปลงปลูกเดิมที่ไร้ทางออก มาสู่อนาคตใหม่อย่างจับต้องได้
ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ในโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สปก. กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ร่วมสร้างสรรค์เกษตรกรรมใหม่ให้ชาวไร่ข้าวโพดในพื้นที่ สปก.หลายจังหวัดปรับตัวจากการผลิตที่เลื่อนลอยไร้อนาคต พลิกสู่การมีอนาคต/มีรายได้ที่แน่นอน เป็นโครงการที่สร้างความสำเร็จสมประโยชน์ให้ทุกฝ่าย บนหลักการที่ไม่ด้อยกว่ากลุ่มเครือข่ายชาวนาข้างต้น มีการสำรวจพื้นที่/จัดฝึกอบรมมาตรฐานการผลิต ซึ่งจากการศึกษาติดตามงานวิจัยโครงการนี้พบว่า เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงราวร้อยละ ๒๙ และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 มีการรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดเฉลี่ย กก.ละ 20 สตางค์ ทำให้รายได้เปรียบเทียบกับก่อนเข้าโครงการเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 45 และยังทำให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้นและอนาคตที่มั่นคงกว่าที่ผ่านมา หลังจากปรับตัวเรียนรู้/ปรับกระบวนการผลิต ฯลฯ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีคุณูปการต่อชีวิตผู้คนของ สปก.ที่ช่วยสร้างความมั่นคงร่วมระหว่างเกษตรกรกับภาคธุรกิจให้มีความมั่นคงที่มีอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
2 ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วน/บางพื้นที่/บางกลุ่มที่สร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ที่สร้างอนาคตที่ดีสามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกใบใหม่ผ่านการผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการจัดการใหม่เป็นแกนขับเคลื่อน ที่ช่วยชี้บอกให้เกษตรกรและผู้คนอย่างเราสามารถก้าวออกจากความคิด-ความเข้าใจ-การมองโลกเกษตรกรรมแบบเดิมๆ สู่จุดเปลี่ยนที่มีอนาคตของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของท้องถิ่นและบ้านเมืองโดยรวม การปรับตัวสร้างความร่วมมือบนฐานความสามารถของแต่ละภาคส่วน ไม่ว่ารัฐ ชาวนา ชาวไร่ หรือภาคธุรกิจ ย่อมช่วยสร้างอนาคตที่จะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ให้กับทุกสาขาอาชีพได้อย่างมีนัยสำคัญ เกษตรกรรมวันนี้ต้องก้าวออกจากความเลื่อนลอยสู่การมีอนาคตที่ดี บนฐานความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ให้จงได้