ค้นหา

ปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิกา 2 พันธุ์ใหม่ หอมสมุนไพรและคาราเมล

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 443 ครั้ง

กรมวิชาการเกษตร ปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้า 2 พันธุ์ใหม่ ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรคราสนิม พันธุ์เชียงราย 1 มีกลิ่นรสคาราเมล ส่วนเชียงราย 2 มีกลิ่นรสสมุนไพร

กาแฟอาราบิก้า เป็นพืชที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีการนำเข้าพันธุ์กาแฟอาราบิก้าหลายพันธุ์มาปลูกกันแพร่หลาย แต่เนื่องจากพันธุ์เหล่านั้นมีความอ่อนแอต่อโรคราสนิม ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตกาแฟอาราบิก้า และพบระบาดในแหล่งปลูกที่สำคัญของโลก ดังนั้น คณะนักวิจัย ซึ่งมีนางสุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผล สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เป็นหัวหน้าคณะวิจัย จึงได้ทำการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้า เพื่อให้ได้พันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานต่อโรคราสนิม และให้ผลผลิตสูง โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพันธุ์ คือ มีความต้านทานต่อโรคราสนิมสูงกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิมดี คะแนนสูงกว่า 65-70 คะแนน ผลผลิตปานกลางถึงสูง และให้ปริมาณสารกาแฟเกรด A ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

การปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้า เริ่มจากกรมวิชาการเกษตรได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมที่ได้คัดเลือกมาจากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยกรมวิชาการเกษตร เริ่มการพัฒนาพันธุ์จากลูกผสมรุ่นที่ 2 ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ มาดำเนินการทดสอบที่สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปี 2525-2532 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมรุ่นที่ 3 จำนวน 9 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 100 ต้น ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 6 สายพันธุ์ ปี 2532-2543 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมรุ่นที่ 4 จำนวน 6 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 200 ต้น ณ ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 3 สายพันธุ์ ปี 2543-2546 นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมรุ่นที่ 5 จำนวน 3 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 50 ต้น คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 20 สายพันธุ์ เพื่อใช้เมล็ดไปปลูกเปรียบเทียบในรุ่นที่ 6 จำนวน 20 สายพันธุ์ ปลูกแบบต้นต่อแถว จำนวน 50 ต้น คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 7 สายพันธุ์ เพื่อใช้เมล็ดไปปลูกเปรียบเทียบสายพันธุ์รุ่นที่ 7 ในพื้นที่ 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จนถึงปี 2564 ได้สายพันธุ์ดีเด่น จำนวน 2 สายพันธุ์ เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 2 พันธุ์ ใช้ชื่อว่า กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงราย 1 และกาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงราย 2

กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงราย 1 มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคราสนิมสูง เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ 569.6 กรัมต่อต้น ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.8 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิม 78-79.5 คะแนน โดยได้นำตัวอย่างกาแฟอาราบิก้าเชียงราย 1 ไปทดสอบคุณภาพที่ Acaemia do Café, Lisboa โปรตุเกส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ใบรับรองมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งอเมริกา พบว่า กาแฟอาราบิก้าชียงราย 1 ได้คะแนนการประเมินของพันธุ์ซึ่งปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย 79.5 คะแนน (จาก 100 คะแนน) โดยมีกลิ่นคาราเมลและหวาน กลิ่นรสช็อกโกแลตนม (milk chocolate) รสชาติถั่วอ่อนๆ มีรสเปรี้ยวของนมเปรี้ยว ส่วนที่ปลูก ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ 78 คะแนน (จาก 100 คะแนน) พบว่า มีกลิ่นรสหอมคาราเมล (caramel) กลิ่นถั่วธัญพืช และรสชาติหวานอ่อน

กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงราย 2 มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคราสนิมสูง เมื่ออายุ 8 ปี ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ 623.65 กรัมต่อต้น ให้ปริมาณสารกาแฟ green bean เกรด A เฉลี่ย 81.89 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิม 76-79 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีมาก ส่วนรสชาติและกลิ่นนั้น พบว่าแต่ละสถานที่มีรสชาติและกลิ่นต่างกัน โดยกาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงราย 2 ซึ่งปลูกที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้ 79 คะแนน (จาก 100 คะแนน) มีกลิ่นรสสมุนไพรรสหวาน (sweet spice) กลิ่นเครื่องเทศ และรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อย แต่กลมกล่อม ส่วนที่ปลูก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ได้ 76 คะแนน (จาก 100 คะแนน) พบว่า มีกลิ่นผลไม้ (fruity) กลิ่นหอมคาราเมลเข้มข้น รสชาติหอมหวาน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/1970364/