ค้นหา

สารสกัดจากดอกโสน เพื่อสุขภาพชีวิตติดจอ

คณะการแพทย์บูรณาการ (กพบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
เข้าชม 462 ครั้ง

ผู้เขียน แทมรีน ใจกล้า

จุดเริ่มต้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดอกโสนชิ้นนี้ มาจากการที่ปัจจุบันนี้คนทุกเพศ ทุกวัยใช้ชีวิตอยู่หน้าจอค่อนข้างเยอะ แม้แต่เด็กอายุยังน้อย มีการใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับสื่อสารสนเทศ ทำให้สายตามีความผิดปกติ อย่างอาการตาล้า สายตาสั้นผิดปกติเร็วขึ้นกว่ากำหนด จึงเป็นที่มาในการคิดค้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตาขึ้นมา ทั้งนี้ทั้งนั้นจากการศึกษาและวิจัยพบว่าสารที่ช่วยเรื่องดวงตาอยู่ในกลุ่มของเบตาแคโรทีนและวิตามินเอ พืชสมุนไพรของไทยที่มีสารในกลุ่มนี้มีเยอะแยะมากมาย จึงได้ปรึกษากับนักศึกษาว่า พืชในท้องถิ่นตัวใดที่มีความสำคัญและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จนเห็นว่าดอกโสนที่ชาวบ้านนำไปใช้ในการบริโภคอยู่แล้ว อย่างเช่น ผักลวกจิ้ม แกง และไข่เจียว

อีกทั้งจากทางการแพทย์โดยทั่วไปยังไม่มีการรายงานว่ามีความเป็นพิษ ด้วยเหตุนี้เองจึงเลือกที่จะหยิบนำเอาดอกโสนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชท้องถิ่น จึงมีแนวคิดว่าน่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้ จึงทำออกมาในรูปแบบกัมมี่ที่เคี้ยวได้”

ผศ.ดร.สุรชัย เตชะเอ้ย คณะการแพทย์บูรณาการ (กพบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เล่าถึงที่มาของผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูปแบบกัมมี่ จากสารสกัดดอกโสน ชูจุดเด่น “บำรุงสายตา” ของ 3 นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร บัณฑิต สาขานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ น.ส.ณัฐวดี สงวนศักดิ์ ร่วมกับ น.ส.นพัทธนันท์ พูลศักดิ์ และ น.ส.รักษิณา มาณกิจ

สำหรับขั้นตอนการสร้าง สรรค์ผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นจากกระบวนการเตรียมตัวอย่างสารสกัดจากดอกโสน มีการเก็บตัวอย่างดอกโสนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 การตรวจสอบลักษณะชนิดพันธุ์พืช การสกัดสารจากดอกโสน การวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี DPPH assay การวิเคราะห์เชิงคุณภาพด้วยเทคนิค TLC การตั้งตำรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากดอกโสนในรูปแบบกัมมี่

จากนั้นศึกษาลักษณะทางกายภาพของตำรับอาหารเสริมจากดอกโสน การวิเคราะห์เนื้อสัมผัส การทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ การทดสอบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงการออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์
และข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยใช้ชื่อว่า “EYE NICA” Dietary Supplement Product ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอายนิก้าจากสารสกัดดอกโสนรูปแบบกัมมี่ที่จะช่วยดูแลและบำรุงสายตา มีสารประกอบสำคัญ วิตามินเอ และเบตาแคโรทีน

ผศ.ดร.สุรชัย เผยอีกว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ นอกจากจะได้รับรางวัลระดับดีมากในผลงานโครงงานและวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์ กพบ. 2565 ยังถือเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสายตา นำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางโภชนาการแล้วยังเป็นการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพให้กับกลุ่มคนที่มีชีวิตติดจออีกด้วย.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2627921