ค้นหา

พารู้จัก “ปลาลูกเบร่” ปลาหายาก จ.พัทลุง กับการเพาะเลี้ยงในบ่อปิดแห่งแรกในไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกรกิโลกรัมละ 700 บาท

วิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยทักษิณ
เข้าชม 603 ครั้ง

ปลาลูกเบร่เป็นอีกหนึ่งชนิดปลาที่มีมูลค่าสูงแต่เป็นปลาที่หายากและมีเฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะในชุมชนปากประ จังหวัดพัทลุงที่ยกระดับเมืองรองให้สามารถเป็นพื้นที่การท่องเที่ยงเชิงนิเวศ ด้วยการพัฒนาและต่อยอดการเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อด้วยระบบปิดแห่งแรกในประเทศไทย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวประมงและเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

นายสุชาติ บุญญปรีดากุล ผู้ใหญ่บ้านชายคลองปากประ ม.11 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง
นายสุชาติ บุญญปรีดากุล ผู้ใหญ่บ้านชายคลองปากประ ม.11 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง

นายสุชาติ บุญญปรีดากุล ผู้ใหญ่บ้านชายคลองปากประ ม.11 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง เล่าว่า ทางชุมชนได้รับการสนับสนุนเป็นหมู่บ้านนวัตกรรมในปี 2564 โดยได้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เป็นผู้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันได้มีการต่อยอดในส่วนของการเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ ซึ่งทางหมู่บ้านได้มีการปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยทักษิณเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการมาประมาณ 5 ปี แต่เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อได้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมกับ NIA และทางชุมชนเองก็ใช้นวัตกรรมของ NIA ในการเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่

สาเหตุที่ต้องเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่นั้นสืบเนื่องมาจากในปัจจุบันได้เกิดวิกฤตปลาลูกเบร่จากการที่ปลาลูกเบร่เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่รู้จักกันเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งในปัจจุบันมีตลาดออนไลน์รองรับการขายเป็นจำนวนมาก ทำให้ปลาลูกเบร่ถูกกระจายขายไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลางคือกรุงเทพมหานคร และภาคอื่นๆ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตลาดที่เป็นคู่ค้าหลักในตอนนี้คือตลาดในประเทศมาเลเซีย เมื่อมีความต้องการบริโภคปลาลูกเบร่มากขึ้นก็ส่งผลให้เกษตรกรและชาวประมงจำเป็นต้องหาปลาลูกเบร่กันมากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ปริมาณปลาลูกเบร่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติลดลงอย่างน่าตกใจ ทำให้เกิดการคิดค้นและหาทางออกในการจำกัดการจับปลาหรือเพิ่มจำนวนของปลาลูกเบร่ รวมไปถึงการอนุรักษ์ปลาลูกเบร่เอาไว้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการที่ทางชุมชนปรึกษากับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทักษิณแล้วนั้นได้ข้อสรุปคือ “การเพาะเลี้ยง” ในเบื้องต้น โดยในปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ปลาลูกเบร่เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้ในทะเลสาบสงขลา เดิมทีได้มีการค้นพบจากแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ในปัจจุบันอาจจะไม่มีการพบปลาลูกเบร่แล้วก็เป็นได้ โดยในปัจจุบันจะถูกค้นพบในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาและจังหวัดพัทลุงเท่านั้น และพบมากที่สุดในพื้นที่คลองปากประ จ.พัทลุง โดยชาวบ้านจะใช้วิธีการยกยอในการจับปลาดังกล่าว นอกจากนี้ถ้าหากมองผิวเผินปลาลูกเบร่จะมีความคล้ายคลึงกับปลาซิวแก้ว เนื่องจากมีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ปลาตระกูลเดียวกันและมีรสชาติที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันปลาลูกเบร่ตากแห้งจากเดิมจะมีราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 700 บาท ซึ่งถือว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อาหารของปลาลูกเบร่นั้นคือแพลงตอนพืชและสัตว์ ซึ่งในการเลี้ยงระบบปิดนั้นจะให้อาหารเป็นปลาบดละเอียด โดยมีการให้ทั้งหมด 2 ครั้งและไข่ของปลาลูกเบร่ไม่สามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีการนำน้ำเชื้อไปผสมกับไข่แก่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ

นอกจากนี้รสชาติของปลาลูกเบร่นั้นจะมีรสชาติที่มัน หวาน และเวลาตากแห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ ซึ่งมีรสชาติที่แตกต่างจากปลาซิวแก้วตรงที่ปลาซิวแก้วจะมีรสชาติขมปลายแต่ปลาลูกเบร่ไม่มีรสชาติขมแม้แต่นิดเดียว ซึ่งปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่หวังดีนำปลาซิวแก้วมาหลอกว่าเป็นปลาลูกเบร่ขายกันจำนวนมาก สำหรับลูกค้าที่ต้องการจะบริโภคก็มีข้อสังเกตได้ง่ายคือรสชาติและราคา เนื่องจากปลาซิวแก้วมีราคาที่กิโลกรัมละ 180-200 บาทแตกต่างจากปลาลูกเบร่ที่มีราคาสูงกว่า

สำหรับการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้นั้นนอกจากจะนำไปตากแห้งขายแล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท ได้แก่ ผงโรยข้าว น้ำพริกปลาลูกเบร่ ปลาลูกเบร่ทอดกรอบสมุนไพร ซึ่งการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทางชุมชนและวิสาหกิจชุมชนก็ได้มีการผลิตขายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ปลาลูกเบร่ที่โตเต็มวัยและสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารหรือขายสดได้จะมีขนาดตั้งแต่ 4 เซนติเมตรขึ้นไป

ปัจจุบันทางวิสาหกิจชุมชนมีพื้นที่สำหรับการเพาะขยายพันธุ์ปลาลูกเบร่อยู่ประมาณ 117 ไร่ และจะขยายเพิ่มเป็น 250 ไร่ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ปลาลูกเบร่โดยเฉพาะ และมีคำสั่งห้ามชาวประมงหรือบุคคลใดจับปลาลูกเบร่ในพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ทางชุมชนได้มีการจัดทำชุดการเพาะเลี้ยงไว้สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับปลาลูกเบร่ โดยเอาไว้ให้ชุมชนจำนวน 1 ชุดและชุดการทดลองอีก 1 ชุดอยู่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งอัตราการเพาะเลี้ยงสำเร็จในตอนนี้อยู่ที่ 80%

อาจารย์ ดร. พลากร บุญใส รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ
อาจารย์ ดร. พลากร บุญใส รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ

ด้านอาจารย์ ดร. พลากร บุญใส รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ เผยว่า ปลาลูกเบร่เป็นปลาที่ตกใจและตายง่าย จำเป็นต้องวางยาสลบเพื่อให้ง่ายต่อการขนย้าย ซึ่งในการเพาะเลี้ยงในบ่อนั้นในช่วงแรกปลาจะมีอาการตกใจค่อนข้างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักก็จะเริ่มปรับตัวได้ และคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งในปัจจุบันขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงนั้นยังถือว่าอยู่ในขั้นของการเพาะเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์และสามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้ ทั้งนี้ในส่วนของการเลี้ยงนั้นยังจำเป็นต้องเลี้ยงรวมกับปลาซิวเพื่อให้เกิดความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่จะไม่เกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์อย่างแน่นอนเพราะเป็นปลาคนละตระกูลและคนละสปีชีส์

นอกจากนี้ในการเพาะเลี้ยงจะต้องมีระบบให้ออกซิเจนตลอดเวลาและเพาะเลี้ยงด้วยน้ำจากธรรมชาติจากคลองปากประและเติมคลอรีนไป 3 เดือนเพื่อให้คลอรีนระเหยจนหมด หลังจากนั้นจึงนำมาใช้เพาะเลี้ยงได้ โดยน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะมีระบบหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง 

อย่างไรก็ตามพื้นที่ใช้นวัตกรรมเกษตรโซนเล ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงานช่วยแก้ปัญหา 4 ส่วน ได้แก่ 

1) การสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่ด้วยระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ GIS เพื่อวัดพิกัดและติดตามการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาลูกเบร่ 

2) การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย 

3) การยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่จากรูปแบบเดิมให้เป็นระบบ IOT เพื่อเชื่อมข้อมูลการแปรรูป ความชื้น อุณหภูมิ เวลาในการอบเข้าสู่ระบบคลาวด์ รายงานผลแบบเรียลไทม์ และสามารถเก็บเป็นข้อมูลสำหรับปรับปรุงกระบวนการแปรรูปต่อไป ส่วนขั้นตอนการผลิตจะเปลี่ยนเป็นการใช้ยอยักษ์จับปลาลูกเบร่ขึ้นมา จากนั้นนำมาคลุกเกลือและตากแห้งด้วยระบบความร้อนแสงอาทิตย์ ร่วมกับระบบลมร้อนภายในตู้อบแห้งพาราโบล่าที่มีระบบตรวจวัดอุณหภูมิและดูดความชื้น ทำให้ปลาลูกเบร่อบแห้งได้เร็วขึ้น ลดการปนเปื้อน จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ราคาสูงขึ้น ก่อให้เกิดรายได้กลับเข้าชุมชนมากยิ่งขึ้น 

4) การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่”

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/smes/detail/9660000016645