กยท. น้อมนำพระราชดำริ หลักการธรรมชาติบำบัด ใช้ “เชื้อรากำจัดเชื้อรา” แก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจจะทำให้การระบาดลดลงอย่างแน่นอน พร้อมเดินหน้าจับมือเกษตรกรจัดทำแปลงสาธิตในทุกจังหวัด เพื่อขยายผลสู่สวนยางของเกษตรกรทั่วประเทศ
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ได้น้อมนำพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราจนประสบผลสำเร็จ สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่เคยระบาดสูงสุดถึงประมาณ 1 ล้านไร่ ขณะนี้สามารถควบคุมการระบาดเหลือประมาณ 630,000 ไร่ และมีแนวโน้มการระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ในสวนยางพาราประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย พบโรครวมกันมากกว่า 2 ล้านไร่ จากนั้นเริ่มระบาดเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง เริ่มจากสวนยางพาราในจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2562 และแพร่กระจายขึ้นมาระบาดในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ตอนบน และภาคตะวันออกตามลำดับ การระบาดรุนแรงต่อเนื่องจนถึงปี 2564-2565 มีสวนยางพาราทั่วประเทศได้รับผลกระทบรวมพื้นที่ประมาณ 1,000,000 ไร่ คิดมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2565 กยท.ได้นำแนวพระราชดำริมาใช้ดำเนินการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ ทำให้การระบาดลดลง โดยใช้หลักการธรรมชาติบำบัด ใช้ “เชื้อรากำจัดเชื้อรา” คือ เชื้อไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ มาฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคร่วงชนิดใหม่คือ เชื้อรา Colletotrichum sp. ด้วยการใช้อัตราปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม เชื้อราไตรโคเดอร์สด 1 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัม ใช้หว่านในสวนยางพาราที่เป็นโรคใบร่วง 1 ไร่ หรือถ้าเกษตรกรต้องการฉีดพ่นให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์สด 1 กิโลกรัมผสมน้ำหมักชีวภาพ อัตรา 200 ลิตร ฉีดพ่นในสวนยางพาราที่เป็นโรคใบร่วง 1 ไร่ โดยหว่านหรือฉีดพ่นให้ครอบคลุมบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน ทุก 3 เดือน
“การแก้ปัญหาระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ดังกล่าว กยท.ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมส่งเสริมการ เกษตรในการเพาะเชื้อไตรโคเดอร์มาพร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรเพาะเชื้อใช้เอง โดยไม่ต้องซื้อ และกรมพัฒนาที่ดิน ในเรื่องสารเร่ง พ.ด. เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา บวกกับปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพดังกล่าว เป็นการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ทำให้ต้นยางมีความสมบูรณ์ แข็งแรง โรคต่างๆก็จะเข้าทำลายได้ยาก นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นทุนลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าปุ๋ยเคมีไม่ดี แต่เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งจะได้ประโยชน์ถึง 3 อย่าง คือ 1.ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น 2.ต้นยางแข็งแรง และ 3.ลดต้นทุนการผลิตเพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับเชื้อไตรโคเดอร์มาและน้ำหมักชีวภาพ เกษตรกรจะลงทุนแค่ 300 บาทต่อไร่เท่านั้น” นายขจรจักษณ์ กล่าว
รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า กยท.ตั้งเป้าว่า จะหยุดการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ให้ได้ ทั้งนี้ล่าสุด กยท. โดยสถาบันวิจัยยาง ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการการป้องกันและควบคุมโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา : การขยายผลสู่การปฏิบัติในแปลงเกษตรกร” ใน 4 พื้นที่ คือ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดสงขลา พื้นที่ภาคใต้ตอนกลางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดชุมพร และภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง เพื่อให้พนักงาน กยท. เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา รับทราบพื้นที่การระบาด ผลกระทบจากการระบาดของโรค พร้อมทั้งได้มีการสาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา และการนำไปใช้ป้องกันและควบคุมโรคในสวนยาง เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิบัติในสวนยางของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการและบริบทในแต่พื้นที่ยิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาความรุนแรงและควบคุมการแพร่ระบาดให้เหลือน้อยลงเป็นโรคยางปกติทั่วไปหรือค่อยๆหมดไปในที่สุด
นอกจากนี้ กยท. ยังได้มีการจัดทำแปลงสาธิตในการกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว อย่างน้อยจังหวัดละ 5 แปลง โดยมีศูนย์วิจัยยางเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและการดูแลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อใช้เป็นแปลงตัวอย่างในการขยายผลไปแก้ปัญหาการระบาดในสวนยางอื่นๆ ซึ่ง กยท. ตั้งเป้าหมายในปีงบประมาณ 2566 มีพื้นที่สวนยางที่จะขยายผลจำนวน 16,200 ไร่ เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถกรีดยางได้ตามปกติ เนื่องจากสวนยางพาราที่เป็นโรคใบร่วงชนิดใหม่นั้น จะไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ และไม่มีเงินใช้ดำรงชีวิตและดูแลสวนยาง
“หลังจากที่เกษตรกรนำแนวทางการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ดังกล่าว ไปใช้ในแปลงสวนยางสาธิต พบว่า ไม่มีเชื้อรา Colletotrichum ที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว เกษตรกรสามารถกลับมากรีดยางได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากเดิมที่กรีดไม่ได้เลย และคาดว่าจะสามารถกรีดได้ตามปกติคือ กรีดยาง 2-3 วัน เว้น 1 วัน ได้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางกลับมามีรายได้เช่นเดิม” รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวในตอนท้าย