ค้นหา

ชาวนาเงินล้าน! จากเซียนปุ๋ยเคมี สู่ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ ไถกลบเพิ่มทรัพย์ในดิน

 นายชัยพร พรหมพันธุ์
เข้าชม 504 ครั้ง

เรียกว่าเป็นเทพแห่งการปลูกข้าว จนได้รับรางวัลระดับประเทศมามากมาย สำหรับ นายชัยพร พรหมพันธุ์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2558 จากเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ “สุพรรณบุรี” และแต่ละปีก็สามารถจับเงินล้านได้ ส่งเสียลูก 3 คน จนจบปริญญาโท แถมปลูกบ้านให้ทุกคน

ความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ด้วยการปลูกข้าว จากการเริ่มต้นไม่กี่ไร่ จนปัจจุบัน มีที่ดินปลูกข้าวเกือบ 120 ไร่ ด้วยน้ำพักน้ำแรง และหลักคิดด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ย ทำยาฆ่าแมลงจากธรรมชาติ ใช้ต้นทุนในการทำนาถูกกว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีถึง 3 เท่า

ลุงชัยพร เล่าว่า ครอบครัวเป็นเกษตรกร เราก็ทำนามาตั้งแต่เด็ก แต่พอเริ่มโต เขาก็ไม่ได้ส่งเสียให้เรียนหนังสือ ส่งเราไปทำงานโรงกลึง ทำให้มีความรู้ด้านช่างมาบ้าง แต่เมื่อเราโตขึ้น สร้างครอบครัว ที่บ้านก็ให้ที่ดินมา 30 ไร่ ตั้งแต่ปี 2521 ทำนาบนที่ดิน 25 ไร่ ปลูกข้าวตามกระแส ใช้สารเคมี แต่รายได้แทบไม่พอใช้ แต่ละปีมีเงินเหลือจากการทำนา 25 ไร่ ไร่ละ 500-1,000 บาท เรียกว่า “ไม่พอกิน” ต้องไปรับจ้างทำอย่างอื่นถึงจะพอมีรายได้เลี้ยงปากท้อง

ตอนแรกทำนาไม่เป็นเลย ก็ไปเรียน เรียนใช้สารเคมีต่างๆ ตอนนั้น เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล เขามีอบรมการใช้ปุ๋ยเคมี เราก็ไปเรียนจนได้ที่ 1 ของ อ.บางปลาม้า

“ผมอบรมบ่อยมาก จนกลายเป็นอันดับ 1 ของอำเภอ เรื่องการใช้สารเคมีเลย (หัวเราะ) แต่ก็ทำไปๆ มันก็ไม่เหลือกำไรเลย เงินที่หามาได้ ก็เสียไปกับค่าใช้จ่ายกับการลงทุนไปเสียหมด ซึ่งสมัยนั้นที่ดินไร่ละ 4,000-5,000 บาท ยังไม่มีปัญญาซื้อ เพราะเราทำนาแล้วไม่เหลือ ยังต้องไปทำงานเสริม รับจ้างวันละ 35 บาท”

ลุงชัยพร บอกว่า ปลูกข้าวใช้สารเคมีแบบนี้ 6 ปี วันหนึ่งได้ไปพบ อ.เดชา ศิริภัทร (ประธานมูลนิธิขวัญข้าว ผู้ผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์) ได้มาขอแปลงนาไปทดลองปลูกข้าวโดยใช้สมุนไพรควบคุมแมลง ท่านขอที่ดินแค่ 8 ไร่ ปรากฏว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะเราไม่ต้องไปเสียเงินซื้อยาฆ่าแมลง

แปลงนาที่ใช้ยาควบคุมแมลง ไม่ได้ฆ่าแมลงทั้งหมด แมลงบางชนิดก็สามารถควบคุมเพลี้ย หนอนได้ด้วย สร้างความสมดุล ให้ควบคุมกันเอง เราได้ไปทดลองปลูกกับ อ.เดชา 2 ปี กระทั่งปี 2532 ก็เลยมาปลูกข้าวของตัวเอง 8 ไร่ บวกกับไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย

การทำสมุนไพรควบคุมแมลง

ลุงชัยพร อธิบายวิธีการทำสมุนไพรควบคุมแมลง มีขั้นตอนดังนี้

1. หาสมุนไพรที่จะนำมาใช้ ประกอบด้วย สะเดา ข่าแก่ ตะไคร้หอม เถามะระ สาบเสือ นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำ และนำมาหมักกับน้ำ
2. ส่วนผสมหลักจะใช้ สะเดา 7 กก. ตะไคร้หอม 2 กก. ตำให้ละเอียด จากนั้นหากมีสมุนไพรอื่นๆ ก็นำมาใช้ด้วยได้ จากนั้นนำมาแช่น้ำ 25 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน กลั่นออกมาจะเหลือ 23 ลิตร สามารถเอาไปฉีดนาข้าวได้ 1 ไร่

“การทำยาฆ่าแมลงจากธรรมชาติตรงนี้ ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินไปซื้อยาฆ่าแมลง เพราะของต่างๆ มันมีตามธรรมชาติอยู่แล้ว บางส่วนเราก็ปลูกขึ้นมา ก็ไม่เสียเงิน”

ภาคภูมิใจ หาเงินล้าน ส่งลูกจบ ป.โท 3 คน กลับมายังช่วยปลูกข้าว

สิ่งที่เราเริ่มทำตั้งแต่ปี 2532 จากนั้นอีก 5 ปีต่อมา เราได้กลายเป็นต้นแบบของเกษตรกร เพราะไม่มีใครทำ บางคนเคยทดลองทำก็เลิกไป แต่เราทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนประสบความสำเร็จ มีเงินเหลือ เราก็ต่อยอดด้วยการลงทุนซื้อที่ดินเพิ่มไปเรื่อยๆ เงินบางส่วนก็นำไปส่งเสียลูก ไปต่อทุน ซื้อรถบรรทุก บรรทุกข้าวส่งเข้ากรุงเทพฯ

“ปี 2538 เราทำเรื่องนี้จนได้รับโล่เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ต่อมาก็พยายามคิดสูตรต่างๆ มีการทดลอง ส่วนกิจการรถบรรทุกสิบล้อ ที่เราเริ่มลงทุนเรื่องนี้เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่โรงสีต้องการ เราก็ต่อยอดตรงนี้ออก (ปัจจุบันเลิกใช้สิบล้อแล้ว) จากเงินที่ได้จาก 10 ล้อ นำมาใช้จ่าย ซื้อที่นาเพิ่ม จากไร่ละ 25,000 บาท ตอนนี้ 200,000-300,000 บาทก็ซื้อได้ ส่งเสียลูกๆ จนจบปริญญาโท คนหนึ่งจบเกษตรศาสตร์กำแพงแสน อีกคนจบเกษตรศาสตร์ ส่วนคนเล็กจบปริญญาตรีเกียรตินิยม เกษตรศาสตร์บางเขน จบโท ม.นิด้า” ลุงชัยพร เล่าอย่างภาคภูมิ

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวด้วยเสียงเหน่อแบบคนสุพรรณฯ ว่า “บ้านผมไม่ธรรมดานะ ลูกๆ กลับมา มาหว่านข้าว หว่านปุ๋ย นี่ใช้นักวิชาการนะ ไม่ใช่ขี้ๆ นะ (หัวเราะ) เพราะลูกชายทำงานอยู่ ธ.ก.ส. อีกคนอยู่ที่กรมวิชาการการเกษตรฯ บางเขน คนเล็กอยู่ ธ.กรุงไทย ทุกๆ วันนี้ลูกยังกลับมาช่วยปลูกข้าว”

ทำไม “ชาวนา” ถึงยากจน เป็นหนี้

เมื่อถามว่า เพราะอะไรชาวนาไทยจำนวนมากถึงยังจน เป็นหนี้ ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นายชัยพร กล่าวว่า เกษตรกรไทยทุกคนต้องพึ่งพาตัวเอง อย่าพึ่งพาคนอื่น คนเป็นชาวนา หรือเกษตรกร ต้องปรับตัว

“เพราะอะไร ทำนาถึงไม่ลงมือทำเอง ต้องไปจ้างคนอื่น จ้างหว่าน จ้างไถ คนที่มาทำก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้ เพราะไม่ได้เป็นของตัวเอง ชาวนาหลายคนก็โทร.อย่างเดียวเลย จ้างทำนู่น ทำนี่ ทำตัวเป็นผู้จัดการนา แต่สุดท้าย ผู้จัดการนาเจ๊งก่อน ส่วนคนรับจ้างเขาไม่เจ๊ง เขาทำเสร็จเขาก็ไป”

ไถกลบฟาง ได้ปุ๋ย ลดการเผา

เรามีที่ดิน 100 กว่าไร่ เราทำเองเกือบทั้งหมด เช่น การไถ เราก็ไถของเราเอง เกี่ยวเสร็จ เราก็กลบฝังลงไปในดิน ไม่จำเป็นต้องเผา เพราะพอไถนาแล้วน้ำท่วม ฟางที่ไถกลบก็กลายเป็นที่เก็บปุ๋ย ตะกอนที่มากับน้ำหลาก ก็ได้อีก จากนั้นเมื่อถึงเวลาหว่านข้าวมันก็งามเลย ถ้าอยากได้เพิ่ม ก็ใส่ปุ๋ยหมักที่เราหมักเองได้อีก

“การไถกลบฟาง หากจ้างคนอื่นมันก็ได้เร็ว แต่สำหรับเรา เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ เราก็จัดการเลย เหมือนเป็นการตากดินไปในตัว พอเริ่มจะเข้าสู่เทศกาลการปลูกข้าว เราก็ไม่ต้องไถ เพราะเราไถไปแล้ว”

ข้อดีของการไถกลบ

1.จะทำให้ดินดี ปลูกข้าวก็งาม กลายเป็นปุ๋ยในตัว ใช้ปุ๋ยน้อยลง
2.ไม่ต้องเผา ไม่เกิดมลพิษ

เมื่อถามว่า ทำไมเกษตรกรบางคนถึงเลือกการเผาอยู่ ปราชญ์เกษตรฯ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะเขาไม่ใส่ใจเรื่องนี้ การใช้รถตีดิน หากจะใช้ตีทั้งกองฟางก็ทำได้ เพราะเป็นรถใหญ่ แต่ที่ไม่ทำ เพราะมันเปลืองน้ำมัน

“การเผา มันทำให้หน้าดินแข็ง เหมือนเป็นการเผาอิฐ จุลินทรีย์ก็ตายหมด กว่าจะย่ำให้ดินเละอีกทีมันก็ยาก แถมปลูกข้าวไปแล้ว ข้าวก็ไม่ค่อยงาม จากนั้นจึงต้องอัดปุ๋ยเข้าไป มันก็ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงไปอีก”

ลุงชัยพร กล่าวว่า สิ่งที่ผมทำทุกอย่าง เราทำด้วยตัวเอง แม้กระทั่ง จุลินทรีย์ เชื้อโนบูเรีย (เชื้อฆ่าหนอน) เราก็เก็บมาด้วยตัวเอง โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการมาช่วยวิจัยให้ เราก็ทำขึ้นมาเอง ไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปซื้อตามท้องตลาด

“เกษตรกรที่สนใจ มาขอรับเชื้อได้ และผมจะสอนให้เขาไปทำเองได้เลย ลดต้นทุนได้เลย ผมปลูกข้าว ผมใช้ต้นทุนน้อยกว่าคนอื่น ต่อไร่ผมใช้เงินประมาณ 2,500 บาท แต่เกษตรกรทั่วไปลงทุนไร่ละ 6,700 บาท สูงกว่าเราเกือบ 3 เท่า ฉะนั้นเงินเหลือเก็บจึงแตกต่างกัน ซึ่งปีนี้ข้าวตันละ 9,000 บาท นอกจากนี้ก่อนที่เราจะขายข้าว เราก็สืบราคาโรงสีแต่ละแห่งก่อน หากที่ไหนให้ราคาดี เราก็เอาไปขาย…”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ลุงชัยพร ได้เน้นย้ำว่า การเป็นชาวนาก็รวยได้ หากรู้จักการบริหารจัดการให้ถูก คิดและทำด้วยวิธีการลดต้นทุน ก็จะทำให้มีเงินเหลือมากขึ้น แต่ละปีที่ปลูกข้าวจะมีรายได้ 1.5 ล้านบาท.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2674768