ค้นหา

องค์ความรู้โครงการหลวง แก้ปัญหาหมอกควันเผาป่า

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
เข้าชม 301 ครั้ง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นที่สูง เดินหน้าตามแบบโครงการหลวง ทำแผนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาหมอกควัน มีส่วนช่วยลดการเกิดจุด Hotspot ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เผยว่า จากการทำงานเชิงรุกร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบนพื้นที่สูง 44 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี จัดทำแผนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาหมอกควัน ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งแยกพื้นที่ป่าและที่ทำกิน ป้องกันการบุกรุกป่า 440 ชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร 1,203,426 ไร่ โดยการจัดทำแนวกันไฟ ลาดตระเวนป้องกันไฟป่า จัดทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศต้นน้ำและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้อย่างพอเพียง มีอัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา ส่งผลให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

“เราได้นำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในชุมชนบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง อย่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ 50 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท ในขณะที่ปลูกพืชผักในโรงเรือนตามองค์ความรู้จากโครงการหลวงบนพื้นที่ 0.5 ไร่ เกษตรกรสร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท เช่นเดียวกัน แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า วิธีนี้เลยเป็นผลให้การเกิดจุดความร้อนในพื้นที่สูงเพื่อทำการเกษตรลดลงได้อีกด้วย”

ผอ. สวพส. เผยอีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าช่วงปี 2565 มีจุดความร้อนน้อยกว่าปี 2564 ถึง 1,629 จุด และในช่วง 1 มกราคม-31 มีนาคม 2566 เกิดจุดความร้อนในพื้นที่โครงการ 4,118 จุด คิดเป็นร้อยละ 6 ของการเกิดจุดความร้อนของพื้นที่ 12 จังหวัดที่มีโครงการตั้งอยู่ ที่เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 67,861 จุด

“ความสำเร็จของการดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง นอกจากจะมีส่วนทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ยังทำให้ง่ายต่อการส่งเสริมด้านอาชีพเกษตรกรรมช่วยลดการเผาและสร้างรายได้ มีการตั้งกติกา สร้างกฎระเบียบ ร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ เพื่อป้องกันไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 และมีการปฏิบัติตามมาตรการของอำเภอ จังหวัด พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และดูแลป่าต้นน้ำ ชุมชนอนุรักษ์ ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า พื้นที่ป่าชุมชน ในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน และชุมชนในพื้นที่อีกด้วย” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2687855