ค้นหา

กรมวิชาการเกษตร เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี ใช้จุลินทรีย์คุมโรคเมล็ดสีม่วง และโรคเมล็ดเน่าในถั่วเหลือง ลดต้นทุนใช้สารเคมี

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 520 ครั้ง

กรมวิชาการเกษตร พบเชื้อบาซิลลัส ซับทิลิส สายพันธุ์ PSL49 สยบเชื้อราสาเหตุโรคเมล็ดสีม่วงและเชื้อราสาเหตุโรคเมล็ดเน่าโฟมอบซิส ในถั่วเหลืองได้ผล ลดการเกิดโรคในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลืองได้สูงถึง 20% รุดถ่ายทอดเทคโนโลยีใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ควบคุมโรคสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 1,000 บาท / ไร่ และลดต้นทุนใช้สารเคมีกำจัดโรคพืช 340 บาท /ไร่ 

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีความสำคัญและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่การผลิต การตลาด การแปรรูป ซึ่งการปลูกถั่วเหลืองจำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร เนื่องจากการใช้เมล็ดพันธุ์ดีจะลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ลง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยลักษณะของเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ต้องมีความบริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์  ไม่มีพันธุ์อื่นปน รูปร่าง ขนาดและสีของเมล็ดสม่ำเสมอตรงตามพันธุ์ มีความงอก และความแข็งแรงสูง และที่สำคัญคือต้องไม่มีโรคติดมากับเมล็ดพันธุ์

ใช้จุลินทรีย์คุมโรคในถั่วเหลือง

อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองเป็นพืชที่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิด       และมีหลายชนิดเป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางเมล็ดพันธุ์ ทำให้ถั่วเหลืองมีผลผลิตลดลง เมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ในช่วงฤดูฝนจะพบโรคเมล็ดสีม่วง และโรคเมล็ดเน่าโฟมอบซิสเป็นจำนวนมาก ต้องมีการคัดทิ้งส่งผลทำให้สูญเสียผลผลิตและสิ้นเปลืองแรงงาน  ซึ่งการควบคุมโรคของเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้สารเคมี ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม    

ถั่วเหลือง

รวมถึงการใช้สารเคมีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้เชื้อสาเหตุโรคพืชเกิดการกลายพันธุ์และต้านทานสารเคมีได้อีกด้วย ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวคือ การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์เพื่อลดหรือทดแทนการใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ใช้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การควบคุมโรคอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการโรคที่สำคัญทางเศรษฐกิจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองคุณภาพสูง ได้ศึกษาการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง พบว่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งทั้งเชื้อรา C. kikuchii สาเหตุโรคเมล็ดสีม่วงและเชื้อรา Phomopsis sp. สาเหตุโรคเมล็ดเน่าโฟมอบซิส คือเชื้อ บาซิลลัส ซับทิลิส สายพันธุ์ PSL49 ( Bacillus subtilis PSL 49) สามารถสร้างเอนโดสปอร์ซึ่งมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และลดการเกิดโรคในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองได้สูงถึง 20% จึงนำมาพัฒนาเป็นสูตรสำเร็จรูปแบบผงที่ง่ายต่อการใช้งานของเกษตรกร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก  กรมวิชาการเกษตร  ได้ขับเคลื่อนผลงานวิจัยการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคที่สำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง  เพื่อนำผลงานวิจัยถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย  โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ร่วมกับไรโซเบียมในการควบคุมโรคที่สำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองสำหรับเกษตรกร ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่จังหวัดน่าน  โดยบรรยายโรคที่สำคัญของผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองและการควบคุมโรคด้วยการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์  พร้อมฝึกปฏิบัติการเตรียมหัวเชื้อ  การเพิ่มปริมาณเชื้อ  และวิธีการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ร่วมกับไรโซเบียมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อควบคุมโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์  ให้เกษตรกรได้ทราบถึงหลักการและวิธีการใช้ที่ถูกต้อง  และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในงานผลิตเมล็ดพันธุ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

“หากเกษตรกรนําเทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ไปควบคุมโรคเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองไปใช้อย่างต่อเนื่องจะสามารถลดการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ที่ต้องคัดทิ้ง  ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,000 บาทต่อไร่  ลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืชเฉลี่ย 340 บาทต่อไร่  อีกทั้งยังลดการตกค้างของสารกำจัดโรคพืชในสิ่งแวดล้อม  และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรด้วยเช่นกัน  เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ฯ เพื่อควบคุมโรคเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก  โทรศัพท์ 055-313111” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/industrial-drop/66846