ค้นหา

เพาะพันธุ์ “ปลาบู่” ประมงทำได้ เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี
เข้าชม 459 ครั้ง

นางสาวแสงเดือน นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี เผยว่า จากความต้องการของปลาบู่ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้ปลาบู่มีราคาสูงขึ้น โดยขนาด 800 กรัม ราคา กก.ละ 370 บาท กรมประมงจึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดเร่งเพาะขยายพันธุ์พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและช่วยลดการจับจากธรรมชาติ

“ทางศูนย์ฯประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์ขนาด 200-300 กรัม จำนวน 23 คู่ มาเพาะขยายพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร และกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด 30×30 เซนติเมตร ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำเป็นกระโจมสามเหลี่ยมมาวางไว้รอบบ่อเพื่อให้แม่ปลาวางไข่ พร้อมทำการตรวจการวางไข่ทุก 3 วัน จากกระเบื้องทุกแผ่น หากพบเห็นการวางไข่ให้รีบนำขึ้นไปฟักในบ่ออนุบาลทันที โดยไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ 3 วัน จากนั้นอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์เป็นอาหาร และเมื่อลูกปลาอายุ 15 วัน เริ่มให้ไรแดงเป็นอาหาร เมื่อลูกปลาโตขึ้นมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร จึงให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยพบว่าอัตราการรอดของลูกปลาอยู่ที่ร้อยละ 77.52”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี เผยอีกว่า ในปีที่ผ่านมาทางศูนย์ฯสามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาด 1 นิ้ว ให้เกษตรกรชุดแรกแล้วจำนวน 10,000 ตัว และในปี 2566 ตั้งแผนที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ถึง 42,000 ตัว และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตลูกพันธุ์ปลาบู่ให้มีอัตรารอดที่สูงขึ้น พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกร เพื่อขยายผลประโยชน์ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ต่อไป

อนึ่ง ปลาบู่ หรือบู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต มีชื่อสามัญว่า Sand Goby, Marbled Sleepy Goby พบการอาศัยได้ในบริเวณพื้นที่น้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และไทย ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม โดยผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งในรูปแบบมีชีวิต แช่เย็น และสัตว์น้ำสวยงาม.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2694202