สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวอิทธิญา พึ่งเป็นสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ตำบลลำตะเคียน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบปัญหาหลักการทำนาข้าว จาก “แมลงศัตรูพืช” กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่ ได้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาโดยถ่ายทอดองค์ความรู้ และการบริการความรู้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) และขับเคลื่อน BCG โมเดล ผลักดันการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในชุมชนแบบครบวงจร
นางสาววัลวิษา ปิติมาตร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอผักไห่ กล่าวว่า จากการดำเนินงานได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการแปลง การทำปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งในกลุ่มแปลงใหญ่นี้มีจุดเด่น คือ เกษตรกรมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพทำนาข้าวเป็นหลัก ร้อยละ 95 ของพื้นที่ พื้นที่มีความเหมาะสม และเกษตรกรมีการเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาส่งเสริมทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านการเรียนรู้ การเชื่อมโยงองค์ความรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การเรียนรู้ของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และการเรียนรู้ผ่านศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม
นายเฉลิม มงคลวัย ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลลำตะเคียน กล่าวว่า การรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ลำตะเคียนเป็นแปลงใหญ่ ดำเนินการเมื่อปี 2560 มีสมาชิก 49 ราย พื้นที่รวม 1,505 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการผลิตข้าว มีบริการรถฉีดพ่นสารเคมี สินค้าข้าวของกลุ่มแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ข้าวแป้ง (เข้าโรงสี) ข้าวเพื่อบริโภค และเมล็ดพันธุ์ข้าว
กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวลำตะเคียน มีวิธีการลดต้นทุน โดยตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และการใช้สารชีวภัณฑ์ ตามหลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนการผลิต จากเดิม ไร่ละ 6,131 บาท ลดลงเหลือ 5,102 บาท/ไร่ ลดลงเป็นเงิน 1,029 บาท/ไร่
อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงเครือข่าย ระหว่าง Smart Farmer และ Young Smart Farmer บูรณาการความรู้ร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรทุกระดับเข้ามาสนับสนุนร่วมวางแผนการผลิต และถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตข้าวปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี มีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ผ่านการเรียนรู้ของ ศจช. ในการสร้างแปลงต้นแบบการใช้สารชีวภัณฑ์ การเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืช และมีการประชาสัมพันธ์เตือนการระบาดศัตรูพืชและเรื่องอื่นๆ ผ่านรถโมบายเคลื่อนที่
สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขับเคลื่อนการดำเนินงานแปลงใหญ่ข้าวตำบลลำตะเคียนด้วย BCG โมเดล อันได้แก่ Bio-Economy การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ได้มูลค่าสูง ได้แก่ ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวตามกระบวนการ GAP เป็นต้น Circular-Economy การใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดมลพิษ ขยะ ของเสีย ลดการเผา มีการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามแนวทาง Zero Waste เช่น ลดพื้นที่การเผาเศษวัสดุการเกษตรโดยมีการหมักฟางเพื่อทำปุ๋ยหมัก การอัดฟางข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ Green Economy การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมลดการใช้สารเคมีในการผลิตข้าว การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นต้น ซึ่งแปลงใหญ่ข้าวตำบลลำตะเคียน อำเภอผักไห่ เป็นแปลงใหญ่ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้วย BCG โมเดล โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาแปลงใหญ่ให้มีระบบการผลิตตามเป้าหมาย BCG ภาคการเกษตร อันได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง