จังหวัดสุพรรณบุรีนับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด และหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวดูงานด้านการเกษตรใหม่ที่มาแรง นั่นคือ “หอมขจรฟาร์ม” โครงการเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ที่ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า หอมขจรฟาร์มต้องการสร้างความยั่งยืนให้ภาคเกษตรด้วยการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ดีมีคุณภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อผู้ปลูก ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ทำให้เกิดการแบ่งปัน และเชื่อมโยงระบบธุรกิจภาคการเกษตรที่ยั่งยืน ตามแนวคิด Do well and do good : ผลสำเร็จที่ดี เกิดจากการทำในสิ่งที่ดี
“หอมขจรฟาร์ม” พื้นที่เกษตรแนวใหม่ จึงนับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กแห่งสุพรรณบุรี บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะและแหล่งเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ รวมถึงเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
หอมขจรฟาร์มอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยร่วมมือกับจังหวัดสุพรรณบุรีและหน่วยงานภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งให้ความรู้ศึกษาดูงานของเกษตรกร นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่สนใจ และนักเรียน นักศึกษา
ภายในฟาร์มประกอบด้วยโครงการหลักๆ 5 โครงการ ได้แก่
1. “สวนหอมขจร” (Homkhajorn Garden) เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำการเกษตร โดยเปิดให้คนภายนอกมาเช่าพื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งหมด 30 แปลง เช่าในราคาประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูก โดยจะเน้นพืชผักสวนครัวและไม้ผลต่างๆ เป็นหลัก เช่น ขึ้นฉ่าย ถั่วแระญี่ปุ่น มันเทศญี่ปุ่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง เป็นต้น
2. “Homkhajorn Knowledge” ศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่วิจัยด้านโรงเรือนในการเพาะปลูก ทั้งต้นแบบโรงเรือนอัจฉริยะ แบบกึ่งอัจฉริยะ แบบปกติทั่วไป และโรงเรือนขนาดเล็ก มีการให้ความรู้และอบรมเรื่องการทำการเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจรแก่ชุมชน
3. “หอมขจรคอสเมติก” (Homkhajorn Cosmetic) นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกรดพรีเมียมในห้องปฏิบัติการภายใต้ GMP เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลอาบน้ำ เจลล้างมือ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากว่านหางจระเข้ปลอดสารเคมีที่มีสารอะโลเวรา ช่วยสร้างความชุ่มชื่นแก่ผิว ภายใต้แบรนด์ Homkhajorn
4. แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช รวมถึงไม้หายาก โดยร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมพันธุ์พืชหายากกว่า 20 ชนิด
5. หอมขจร ฟูดแอนด์เบฟเวอเรจ (Homkhajorn Food and Beverage) นำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากฟาร์มมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตร
ภายในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ยังมีร้านกาแฟ SDU Library by Homebakery บรรยากาศสวยงาม ชิลและคูล มีเครื่องดื่มและขนมอร่อยต่างๆ จากสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ ไว้บริการ หนึ่งในนั้นคือทอฟฟี่เค้ก ของสวนดุสิตที่ขึ้นชื่อในเรื่องความอร่อยและเป็นขนมที่พลาดไม่ได้เมื่อมาร้านกาแฟของสวนดุสิต
ดร.สุชยา เกียรติประจักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หอมขจรฟาร์มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งที่มาของชื่อหอมขจรฟาร์มมาจากดอกขจรที่มี 5 แฉกและกลิ่นหอมอ่อนๆ ในฟาร์มยังส่งเสริมการปลูกพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น เช่น มะตาด ตาลเสี้ยน เป็นต้น และมุ่งด้าน Zero Waste เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด รวมถึงส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรแก่ชุมชน มีสมาชิกเกษตรในโครงการคือ กลุ่มเกษตรกรพิหารแดง เกษตรกร ต.สวนแตง เกษตรกรต.ไผ่ขวาง และโรงเรียนวัดโคกโคเฒ่า ส่งเสริมนาข้าวอินทรีย์ การปลูกเมลอน ฯลฯ ตลอดจนส่งเสริมอีโคทัวริสซึ่ม ทั้งการท่องเที่ยวชมฟาร์มไปพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตร
นายธนากร บุญกล่ำ นักวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฟาร์มหอมขจร กล่าวว่า นอกจากแปลงเกษตรสาธิตและโครงการต่างๆ แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจและโดดเด่นของหอมขจรฟาร์มคือการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี เพื่อสร้างรายได้ที่มากกว่าให้แก่เกษตรกร เช่น เมลอน, เลมอน, ว่านหางจระเข้, มะเขือเทศเชอร์รี, อินทผลัม โดยนำความรู้และนวัตกรรมที่มีมาพัฒนากระบวนการปลูก รูปแบบโรงเรือน ตลอดจนคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
สวนหอมขจรได้ริเริ่มโครงการนำร่องให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีปลูกเมลอนหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งออเรนจ์แมน (Orange Man), สายพันธุ์ฮามิกัว (Hamigua) และสายพันธุ์กาเลีย (Galia) รวมถึงมะเขือเทศเชอรฺรี สายพันธุ์สวีตเกิร์ล และเรดดี้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตจะลงทุนให้ก่อน พร้อมให้ความรู้ด้านการปลูกแก่เกษตรกร โดยอยู่บนหลักของเกษตรปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อเกษตรกรมีรายได้จึงค่อยผ่อนจ่ายให้โครงการในภายหลังโดยไม่มีดอกเบี้ย
หนึ่งในแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกเมลอนคือโรงเรียนวัดโคกโคเฒ่า โดยนายรังสรรค์ ไทยล้วน ครูโรงเรียนวัดโคกโคเฒ่า ซึ่งเป็นตัวแทนครูและนักเรียนพาเยี่ยมชมแปลงปลูกเมลอนของโรงเรียน นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายด้านการเกษตรของหอมขจรฟาร์ม และทำให้โรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายเมลอน และนักเรียนเองก็ได้ถูกปลูกฝังเป็นเกษตรกรรุ่นเยาว์
รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวหน้าโครงการวิจัย “นวัตกรรมแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารและเกษตรสมัยใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี“ (Gastronomy and Agrotourism) โดยใช้ฐานอัตลักษณ์และวัฒนธรรมบูรณาการกับความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้รองรับวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal)” กล่าวว่า
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการวิจัย ตัวอย่างเช่น “วุ้นกรอบว่านหางจระเข้” ซึ่งเป็น “นวัตกรรม” ทางด้านอาหารเชิงสุขภาพที่เป็นขนมที่มีคุณค่าทางอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีรสชาติที่หวานอร่อย สีสันสดใส ได้ใจทุกวัย วิธีทำง่ายๆ น้ำว่านหางจระเข้ ผงวุ้น น้ำตาลทราย และเติมสีผสมอาหาร ต้มจนเดือด เทลงพิมพ์ พอเซตตัวก็หั่นเป็นชิ้น แล้วเอาไปตากแดด หรืออบในตู้อบลมร้อนจนกรอบแห้ง ก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมกินได้เลย ว่านหางจระเข้ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ ลดน้ำตาลในเลือด และลดการอักเสบในร่างกายได้อีกด้วย
โดยในวันที่ 2 มิถุนายนมีการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมหอมขจรฟาร์ม (ฟาร์มต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ) และสวนหอมขจร (Homkhajorn Garden) นำวัตถุดิบที่ได้จากหอมขจรฟาร์มมาทำอาหาร ชมแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกเมลอน ณ โรงเรียนวัดโคกโคเฒ่า ชมกิจกรรมสาธิตทำฟอกาเซีย (Focaccia) ขนมปังสไตล์อิตาเลียน หอมนุ่ม อร่อย โดยนำมะเขือเทศจากหอมขจรฟาร์มมาใช้เป็นส่วนประกอบ สาธิตโดย
ผศ.บุญญาพร เชื่อมสมพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ชิม “วุ้นกรอบว่านหางจระเข้” หนึ่งในผลผลิตจากงานวิจัย น้ำใบเตยใส่วุ้นว่านหางจระเข้ และสลัดซึ่งนำผักและมะเขือเทศในฟาร์มมาใช้ประกอบอาหาร พร้อมชิมน้ำพริก กุ้งแม่น้ำ ต้มยำปลา และอาหารท้องถิ่นแสนอร่อยของสุพรรณบุรี
ทั้งนี้ หอมขจรฟาร์มจึงเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้สนใจด้านการเกษตร สามารถแวะไปเที่ยวชมและหาความรู้เพิ่มเติม และยังสามารถชอปสินค้าทางการเกษตรติดไม้ติดมือกลับบ้าน และยังเป็นการอุดหนุนเกษตรกรไปในตัวอีกด้วย
เพื่อความสะดวกในการเข้าชม ขอแนะนำให้ประสานและติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ หอมขจรฟาร์ม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 57 หมู่ 2 ต.โคกโคเฒ่า อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 72000 โทร. 0-2244-5280-4 เพจ : หอมขจรฟาร์ม เว็บไซต์ : homkhajorn.dusit.ac.th E-MAIL : [email protected]