ค้นหา

เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า ต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่น้อย ขายไข่ กิโลกรัมละหมื่น

เข้าชม 1,495 ครั้ง

ผู้เขียน ธาวิดา ศิริสัมพันธ์

ทั้งในอดีตและปัจจุบันตั๊กแตนยังคงเป็นแมลงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจอันดับต้นๆ ของชาวไร่ชาวนา ที่เข้ามาคอยกัดกินทำลายพืชผลทางการเกษตรให้เกิดความเสียหาย แต่ในทางกลับกันก็มีหลายคนมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากตั๊กแตนจำนวนไม่น้อย หรือจะพูดว่าเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายหันมาเอาดีด้านการเพาะขยายพันธุ์ตั๊กแตนสร้างรายได้กิโลกรัมละหมื่น แถมมีต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำ ใช้พื้นที่ไม่มากก็ทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนะนำให้เลี้ยงในปริมาณที่สามารถควบคุมได้ มีโรงเรือนปิดมิดชิด ไม่ให้สามารถออกไปทำลายพืชสวนไร่นาของเพื่อนบ้านได้

คุณอิทธิพล ดลจำรัส หรือ คุณมี่ เจ้าของฟาร์มลุงมี่ ตั้งอยู่ที่บ้านแสนสำราญ ตำบลสามขา อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรหัวใส พลิกวิกฤตจากตั๊กแตนที่เป็นแมลงศัตรูพืชที่เกษตรกรทุกคนขยาด สร้างโอกาสจับมาเพาะขยายพันธุ์ ขายตัว ขายไข่ของตั๊กแตน สร้างรายได้กิโลกรัมละหมื่น

คุณอิทธิพล ดลจำรัส หรือ คุณมี่ เจ้าของฟาร์มลุงมี่ (ด้านซ้าย)

คุณมี่ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก่อน จนถึงจุดอิ่มตัวหมดแพชชั่นในการทำงาน อยากลาออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ประกอบกับที่ในช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงตัดสินใจลาออกจากงานในปี 62 โดยก่อนช่วงที่จะลาออกจากงานได้อาศัยช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ กลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ไปเริ่มต้นทดลองปลูกผลไม้ ปลูกต้นไม้ทิ้งไว้ก่อน จนผ่านระยะเวลาไปปีกว่าเริ่มรู้สึกว่าเกษตรคือทางของเราทำแล้วมีแพชชั่น และมั่นใจว่าจะทำเป็นอาชีพได้ จึงค่อยลาออกจากงานเพื่อที่จะกลับบ้านมาประกอบอาชีพเกษตรอย่างจริงจัง

โดยพื้นฐานที่บ้านพ่อกับแม่เป็นเกษตรกรกันมาอยู่แล้ว แต่การทำเกษตรของที่บ้านจะเน้นปลูกพืชไร่คือ อ้อยและมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่ตนเองไม่อยากทำแบบนี้ จึงเริ่มศึกษาการทำเกษตรจากยูทูบและกูเกิล จนเริ่มเกิดแรงบันดาลใจในการทำเกษตร และเริ่มลงมือทำจากการปลูกผักและผลไม้ก่อนเป็นอันดับแรก ถัดมาเมื่อการปลูกพืชลงตัวก็มีการขยับขยายเลี้ยงปศุสัตว์ ส่วนตั๊กแตนคือแมลงเศรษฐกิจตัวล่าสุดที่ทางฟาร์มนำมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้

และเมื่อถามว่าทำไมคุณมี่ถึงเลือกที่จะเลี้ยงตั๊กแตน คุณมี่ อธิบายเพิ่มเติมว่า เกิดขึ้นจากที่เมื่อก่อนตั๊กแตนที่เกษตรกรรู้จัก จะรู้จักในนามของแมลงศัตรูพืช ตนเองจึงไม่ได้สนใจ แต่มีอยู่วันหนึ่งเห็นทีวีหลายช่องนำเสนอเรื่องการเลี้ยงตั๊กแตนสร้างรายได้ ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ประหลาดใจว่าทำไมผลผลิตที่เกิดจากตั๊กแตนมีราคาค่อนข้างสูง อย่างราคาของไข่ตั๊กแตนในตอนนั้นขายในราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท หรือตัวของตั๊กแตนที่นำมาทอด ก็ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 500 บาท จึงเริ่มศึกษาการเลี้ยงตั๊กแตนว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง และได้ค้นพบว่าตั๊กแตนเป็นแมลงที่มีโปรตีนสูงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาแมลงกินได้ ก็ยิ่งเกิดความสนใจและให้ความสำคัญ มีความสนุกกับการหาข้อดีนอกจากโปรตีนที่สูงแล้ว การเลี้ยงตั๊กแตนยังมีต้นทุนต่ำ เพราะตั๊กแตนกินแต่หญ้าอย่างเดียว ต่างจากการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องมีการเลี้ยงด้วยหัวอาหาร เพราะฉะนั้นมองว่าต้นทุนการเลี้ยงต่ำมากๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มองว่าอนาคตไปต่อได้ง่าย ทำให้เป็นจุดจูงใจสำคัญในการตัดสินใจเลี้ยงตั๊กแตนสร้างรายได้

เริ่มต้นเพาะขยายพันธุ์จากไข่ 7 ขีด ใช้เวลาเลี้ยง 40-45 วัน ขายได้

เจ้าของบอกว่า ที่ฟาร์มเริ่มต้นจากการซื้อไข่ตั๊กแตนในราคาขีดละ 1,000 บาท ซื้อมาทั้งหมด 9 ขีด สำหรับการนำมาขยายพันธุ์ และมีการทำเสียหายไปบ้าง สรุปแล้วส่วนที่เหลือสำหรับการนำมาขยายเพาะพันธุ์เหลือประมาณ 7 ขีด

การเพาะขยายพันธุ์ เริ่มตั้งแต่การอนุบาลไข่ ตั๊กแตนฟักออกมาจนเก็บไข่ขายได้ก็ใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 40-45 วัน ขึ้นอยู่ตามฤดูกาล หากเป็นช่วงฤดูร้อน ยิ่งร้อนยิ่งเจริญเติบโตได้ดี ตั๊กแตนไม่ชอบอากาศเย็นและฤดูฝน

ไข่ตั๊กแตน สำหรับไปขยายพันธุ์ต่อ

“ยกตัวอย่างการนับเวลาตั้งแต่วันแรกของการวางไข่ จนถึงวันเก็บไข่ขาย ในฤดูร้อน ตั้งแต่ตั๊กแตนฟักไข่ออกมาปุ๊บนับเป็นวันที่ 1 แล้วหลังจากนั้นนับไปไม่เกิน 10 วัน ไข่จะฟักตัวออกมา แต่ถ้าเป็นหน้าหนาว นับตั้งแต่ฟักไข่ออกมาวันที่ 1 แล้วนับไปอีก 17 วัน ไข่ถึงจะฟักตัวออกมา หลังจากนั้นพอฟักออกเป็นตัวแล้ว ให้นับไปอีก 32 วัน ตั๊กแตนจะเริ่มผสมพันธุ์กัน แต่ในระยะเวลาที่ 1-32 ตั๊กแตนจะลอกคราบประมาณ 4-5 ครั้ง พอผสมพันธุ์กันวันที่ 32 นับไปอีก 5-7 วัน ตั๊กแตนจะเริ่มวางไข่ ก็ประมาณ 37-40 วัน ก็เริ่มเก็บไข่ เก็บได้ประมาณ 3 รอบ สมมุติวันที่ 40 เก็บไข่รอบแรก แล้วนับไปอีก 4 วัน เก็บไข่รอบที่ 2 แล้วนับไปอีก 4 วัน เก็บไข่รอบที่ 3 หลังเก็บไข่ครบทั้ง 3 รอบ เราจะเก็บตั๊กแตนชุดเก่าไปขายกิโลกรัมละ 400-500 บาท ไว้สำหรับทอดกิน” คุณมี่ อธิบายถึงระยะเวลาในการเพาะขยายพันธุ์ตั๊กแตนสร้างรายได้

หลังจากทราบถึงวิธีการเพาะขยายพันธุ์ตั๊กแตนไปแล้วเบื้องต้น คุณมี่อธิบายถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในการเลี้ยงตั๊กแตนเพิ่มเติมว่า ยังมีปัจจัยด้านโรงเรือน อาหาร และการป้องกันแมลงรบกวน อื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ปลอดภัย รั้วรอบขอบชิด

โรงเรือน ที่ใช้เลี้ยงตั๊กแตน จะเป็นแบบไหนได้ทั้งหมด ขอแค่หลังคาจะต้องมุงด้วยพลาสติกใส เนื่องจากตั๊กแตนชอบแดด ส่วนด้านข้างและด้านในของโรงเรือนแนะนำให้ใช้เป็นมุ้งแข็งๆ กันแมลงสีขาวจะดีมาก เพราะจะทนทาน ป้องกันตั๊กแตนหรือสัตว์ชนิดอื่นกัดขาดได้ หรือถ้าหากเป็นในช่วงหน้าฝนแนะนำให้หาซาแรนมาบังกันฝนสาดเข้าโรงเรือนตั๊กแตนสักหน่อย เพราะถ้าหากปล่อยให้ตั๊กแตนโดนไอฝนมากๆ จะทำให้ตั๊กแตนน็อกน้ำตายได้

อาหาร ตั๊กแตนเป็นแมลงที่เลี้ยงง่ายมากๆ อาหารที่ใช้เลี้ยงมีเพียงหญ้า ทุกขั้นตอนการเลี้ยงตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ต่างจากการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องเลี้ยงด้วยหัวอาหาร โดยหญ้าที่ใช้เลี้ยงสามารถให้กินได้ทุกประเภทเลย แต่แนะนำให้เลือกหญ้าที่มีโปรตีนสูง เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าหวานอิสราเอล หญ้าสวีทจัมโบ้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวและขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยที่ฟาร์มจะปลูกหญ้าไว้เป็นอาหารของตั๊กแตนโดยเฉพาะบนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณตั๊กแตนที่เพิ่มขึ้น

ปริมาณการให้อาหารต่อวัน ปริมาณไข่ที่นำเพาะขยายพันธุ์จำนวน 7 ขีด ให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น มื้อละ 5-7 กิโลกรัม รวมปริมาณวันละ 12-15 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งการกินอาหารจะวัดเป็นกิโลกรัมอาจจะไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นจะต้องสังเกตที่ฤดูด้วยว่าเป็นฤดูไหน หากเลี้ยงในฤดูหนาวตั๊กแตนจะโตช้า กินอาหารได้ไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนตั๊กแตนจะกินได้ดี เจริญเติบโตดี

ตั๊กแตนจับคู่วางไข่

อุปสรรคในการเลี้ยง ศัตรูหลักๆ ของตั๊กแตนได้แก่ มด เพราะฉะนั้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเก็บผลผลิต พยายามดูมดให้ดีๆ การป้องกันหรือรักษา แนะนำว่าให้หารังของมดให้เจอ จากนั้นเมื่อเจอรังของมดแล้ว ให้ใช้ชอล์กฆ่ามด หรือแป้งกันเห็บหมามาขีดหรือโรยรอบรังของมด ถือเป็นวิธีที่ได้ผลและปลอดภัยกับตั๊กแตนที่อยู่ในโรงเรือน สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือเลี้ยงใกล้ๆ กับแปลงปลูกพืชที่มีการใช้สารเคมี จะไม่แนะนำให้เลี้ยง ฝน ไม่ควรให้น้ำฝนหรือละอองฝนโดนตัวตั๊กแตนโดยตรง เพราะจะทำให้ตั๊กแตนน็อกน้ำตายได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ฟาร์มเคยประสบมาเอง เพราะฉะนั้นกรงเลี้ยงหรือมุ้งเลี้ยงต้องปิดมิดชิด หนาแน่น 

การตลาดไม่มีทางตันต่อยอดได้หลากหลาย

เมื่อผู้เขียนถามถึงเรื่องการตลาดของตั๊กแตนกับคุณมี่ว่า ในอนาคตราคาของไข่และตัวของตั๊กแตนจะยังมีราคาสูงแบบนี้ไหม แล้วถ้าราคาในอนาคตตกลงมาเหลือราคาหลักสิบ ยังคุ้มค่ากับการเลี้ยงอยู่หรือไม่ คุณมี่ อธิบายว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มขายไข่ตั๊กแตนราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท ตัวขายกิโลกรัมละ 400-500 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูง และปริมาณยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงตั๊กแตนในประเทศไทยยังมีไม่มากพอกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะยังขาดเรื่องขององค์ความรู้ในขั้นตอนการเลี้ยงเป็นหลัก แต่ช่วงหลายปีหลังมานี้ เริ่มมีการนำเสนอข่าวในโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ว่าตั๊กแตนสามารถเลี้ยงได้ นั่นก็แปลว่าในอนาคตข้างหน้าจะต้องมีคนหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น ราคาก็จะถูกลงไปตามกลไกของตลาดเพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้คนยึดติดกับราคาขายที่สูงในขณะนี้ แต่อยากให้มองว่าตั๊กแตนคือแมลงแห่งอนาคตที่ช่วยสร้างความยั่งยืนได้

ลูกตั๊กแตน

“ปัจจุบันราคาของไข่ตั๊กแตนราคาขีดละพัน กิโลละหนึ่งหมื่นบาทก็จริง แต่ผมไม่อยากให้คนที่มาเลี้ยงต่อจากผมคิดถึงมูลค่าของมันมาก เพราะว่าถ้าคิดแบบนี้แล้ว ในวันที่ราคาตกขายไม่ได้ราคาเหมือนเมื่อก่อนจะยิ่งทำให้ท้อ เพราะว่าตั๊กแตนสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วมากๆ จาก 1 เป็น 10 จาก 10 เป็น 100 จาก 100 เป็น 1,000 พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นพอเริ่มมีปริมาณสินค้ามากขึ้นราคาก็จะถูกลงเป็นเรื่องปกติของ Demand และ Supply แต่อยากให้มองภาพกว้างคือ 1. เลี้ยงเพื่อบริโภค แค่เลี้ยงก็ได้กำไรแล้ว สามารถลดต้นทุนค่าอาหารในครัวเรือนได้ 2. เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม แต่เราอย่าไปคำนึงว่าเลี้ยงมาแล้วจะต้องขายไข่ให้ได้ราคากิโลละหมื่นตลอดไปไม่ได้ แต่เท่าที่ผมคำนวณมาแล้ว หากในอนาคตราคาตกลงเหลือกิโลละ 10 บาท คนเลี้ยงก็ยังอยู่ได้เพราะใช้ต้นทุนในการเลี้ยงไม่มาก”

กล่องละ 1,000 บาท น้ำหนัก 1 ขีด

ซึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ความยั่งยืนของการเลี้ยงตั๊กแตนที่แท้จริงคือเนื่องจากที่ฟาร์มทำเกษตรผสมผสาน มีการเลี้ยงปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่ เป็ด ปลา กบ หลายสิ่งหลายอย่าง เพราะฉะนั้นเรามองไปถึงอนาคตว่าตั๊กแตนให้โปรตีนสูงถึง 20.6 กรัม ที่ฟาร์มจึงมองว่าจะมีการแปรรูปตั๊กแตนมาเป็นอาหารสัตว์ในอนาคต หากฟาร์มสามารถผลิตได้ปริมาณเยอะเพียงพอต่อการจำหน่ายแล้ว อีกส่วนหนึ่งจะแบ่งมาเลี้ยงปศุสัตว์ ก็จะนำตั๊กแตนตัวนี้ไปตากแห้งแล้วบด นำมาผสมกับวัตถุดิบอย่างอื่นเป็นอาหารให้กับการปศุสัตว์ สิ่งนี้คือความยั่งยืน และเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงตั๊กแตนอย่างแท้จริง

“ในอนาคตแต่ละฟาร์ม แต่ละครัวเรือน พี่น้องทุกท่านก็จะได้องค์ความรู้จากตรงนี้มาผลิตอาหารใช้เอง เราอยากเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เราก็เลี้ยงตั๊กแตนที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นหัวใจของบ้านเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงครอบครัวทั้งอยู่ทั้งกิน ช่วยลดต้นทุนในการซื้อหัวอาหารไปได้ เพราะเรามองว่าปัจจุบันราคาหัวอาหารปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงไม่อยากให้มองเพียงว่าจะขายไข่ ขายตัว ขายอะไรกินอย่างเดียว แต่เรามองภาพไกลไปถึงอนาคตว่าเราจะเอาโปรตีนที่มีอยู่ในตั๊กแตนมาเป็นอาหารเพื่อลดต้นทุนในฟาร์ม” คุณมี่ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 091-056-8589 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : ฟาร์มลุงมี่ Farm LungMee

แชร์ :