ค้นหา

น้ำหมักเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ปราบโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน

กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 804 ครั้ง

โรครากเน่าโคนเน่า…ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราไฟทอปธอราปาล์มมิโวลา (Phytophthora palmivora) เป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังเติบโตทรุดโทรมลงไปจนถึงยืนต้นตายสร้างความเสียหายอย่างมากในแหล่งปลูกทุเรียนของไทยหลายแห่ง

อาการของโรคที่สังเกตได้คือ เริ่มแรกจะพบใบอ่อนที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา ใบเหลืองเหี่ยวลู่ลง บางใบมีแผลสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ อาจพบเส้นใบเป็นสีดำ หรือเกิดใบไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อยๆร่วง

อาการที่กิ่งและลำต้นพบคราบน้ำบริเวณผิวเปลือกที่มีรอยแผลเน่าอยู่ ซึ่งในช่วงเช้าที่อากาศชื้นอาจมีหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงซึมออกมา บางต้นพบว่ารากฝอยเน่าเปลือกล่อนยุ่ย เมื่อโรครุนแรงรอยแผลเน่าจะลุกลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทรุดโทรมและยืนต้นตายสภาวะที่เกิดการระบาดได้ดีคือช่วงฝนตกชุก ดินมีน้ำขัง หรืออากาศมีความชื้นสูง

สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร พบวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดเชื้อราที่เกี่ยวข้องกับโรครากเน่าโคนเน่า

ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตและทำลายรากพืช กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกและการจัดการสวนทุเรียนในการศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการป้องกันและปราบโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยศึกษากับสวนทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการป้องกันและปราบโรครากเน่าโคนเน่า นอกจากนี้ยังมีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีจัดการโรครากเน่าโคนเน่าในแผนการปลูกทุเรียนอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการสนับสนุนการปลูกพืชอินทรีย์

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเป็นเชื้อรามีการสร้างสารออริซิน–เอ (aurisin A) ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารที่มีผลในการยับยั้งการสร้างเส้นใยรวมถึงการขยายพันธุ์ของเชื้อราไฟทอปธอรา ปาล์มมิโวลา จึงนำมาควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยนำสารออริซิน-เอที่อยู่ในน้ำหมักเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาผสมกับสีฝุ่นในอัตรา 1:1 ผสมให้เข้ากันแล้วทาลงบนรอยถากของต้นทุเรียน ที่ได้ถากเปลือกและเนื้อไม้ส่วนที่เป็นโรคออกไปแล้ว สิ่งสำคัญคือการถากแผลต้องให้เลยบริเวณที่ถูกเชื้อราไฟทอปธอรา ปาล์มมิโวลาเข้าทำลายและการทารอยแผลต้องให้เลยขอบแผลที่ถาก

และหลังการใช้ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยผงซักฟอกคลอรอกซ์และน้ำเปล่าทุกครั้งก่อนย้ายไปถากแผลต้นอื่น พร้อมเก็บเศษชิ้นส่วนพืชที่เป็นโรคหลังการถากแผลใส่ถุงเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่ต้นอื่น

ดร.สุรีย์พร บัวอาจ นักวิจัยเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช บอกว่า การใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีทาเพียงครั้งเดียว จะเห็นผลได้จากรอยแผลเน่าแห้งลง เชื้อไม่ลุกลามและยังสร้างเนื้อไม้เข้าหุ้มรอยแผลอีกด้วย

เกษตรกรปลูกทุเรียนที่สนใจนำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการป้องกันและกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทดแทนการใช้สารเคมี สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-4857 ต่อ 236 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี โทร.0-3455-2036-7.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2700386