ค้นหา

ระวังโรคแก้วมังกรระบาดช่วงหน้าฝนในภาคใต้

คอลัมภ์เกษตร เดลินิวส์
เข้าชม 264 ครั้ง

ฝนเริ่มตกชุกในภาคใต้ พื้นที่มีความชื้นสูง เหมาะแก่การแพร่ของเชื้อโรคพืชหลายชนิด เช่น โรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่าในแก้วมังกร

ช่วงนี้ฝนเริ่มตกชุกในภาคใต้ พื้นที่มีความชื้นสูง เหมาะแก่การแพร่ของเชื้อโรคพืชหลายชนิด เช่น โรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า (เชื้อรา Neoscystalidium dimidiatum) อาการเริ่มแรกที่กิ่งและผลเป็นจุดสีเหลือง จากนั้นจะพัฒนาเป็นตุ่มนูนเล็กๆ สีน้ำตาลคล้ายสีสนิมเหล็ก บางครั้งพบแผลสีเหลืองฉ่ำน้ำ เมื่ออาการรุนแรงแผลจะเน่า โดยถ้าเป็นที่กิ่ง จะทำให้เนื้อเยื่อตรงแผลหลุดเห็นเป็นรู หรือเว้าแหว่ง สำหรับที่ผล ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้กลีบผลไหม้แห้งเป็นสีดำ และผลเน่าในที่สุด

โรคเน่าเปียก (wet rot) โรคผลเน่า (Fruit rot) โรคลำต้นจุด (Stem spot) และโรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) บนลำต้น

จากการศึกษาจำแนกชนิดสาเหตุโรคของแก้วมังกรพบเชื้อสาเหตุดังนี้ โรคเน่าเปียกพบสาเหตุคือ รา Chaonephora sp. และ Aspergillus niger พบราทั้งสองชนิดนี้เข้าทำลายส่วนของดอกแก้วมังกร โรคผลเน่าพบการเข้าทำลายของราแตกต่างกันไป ได้แก่ Bipolaris cactivora, Colletotrichum capsici, C. gloeosporioides และ Dothiorella sp. เข้าทำลายที่ผลของแก้วมังกรทำให้เกิดโรคผลเน่า และรา C. capsici มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคและความรุนแรงของโรคมากที่สุดเท่ากับ 32.50 และ 10.00 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับการศึกษาโรคลำต้นจุดได้จำแนกชนิดเชื้อสาเหตุคือ รา Dothiorella sp. จากการศึกษาโรคนี้มีความรุนแรงต่อการผลิตแก้วมังกรมากพบการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรค และความรุนแรงของโรคเท่ากับ 65.30 และ 82.50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนโรคแอนแทรคโนสที่เกิดบนลำต้นสาเหตุเกิดจาก C. gloeosporioides พบเปอร์เซ็นต์การเกิดและความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคผลจุด จากการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการพิสูจน์โรคผลเน่าที่เกิดจากราสาเหตุทั้ง 4 ชนิด โรคลำต้นจุด และโรคแอนแทรคโนสที่เกิดบนลำต้น พบว่าราสามารถทำให้เกิดโรคที่ผลและลำต้นของแก้วมังกร

การจัดการโรค

  1. เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปลอดโรค
  2. ลดการให้ปุ๋ยไนโตรเจน เนื่องจากเป็นพืชอวบน้ำ อาจทำให้พืชอ่อนแอเกิดโรคง่ายขึ้น
  3. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้น
  4. งดให้น้ำช่วงบ่ายหรือเย็น ให้เฉพาะช่วงเช้า เพื่อลดความชื้นสะสมในทรงพุ่ม 
  5. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคอย่างระมัดระวังให้มีแผลน้อยที่สุด การตัดแต่งกิ่งควรตัดตรงส่วนที่เป็นรอยต่อของข้อระหว่างกิ่ง แล้วนำส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก
  6. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรค ไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  7. เมื่อพบโรคเริ่มแสดงอาการ ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคนำออกไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20  มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20% +  12.5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วต้น ทุก 5-7 วัน จำนวน 4 ครั้ง และพ่นอีกครั้งในระยะติดดอก โดยพ่นให้ทั่วต้น ทุก 7 วัน จำนวน 3 ครั้ง

กิ่งที่แตกใหม่ ถ้าพบอาการจุดขาวเล็กๆ ต้องรีบพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เพราะเป็นอาการเริ่มแรกของโรค สารเคมีที่พ่นได้แก่ โปรคลอราซ หรือ อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล ทุก 5-7 ครั้ง สลับกับแมนโคเซบ พ่นติดต่อกัน เพราะบางครั้งกิ่งใหม่ที่แตกออกมาก็เป็นโรค โดยแสดงอาการจุดขาวเล็ก ๆ ก่อน คืออาการเริ่มต้นของโรค ต้องรีบพ่นสารเคมี

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/2438325/