ค้นหา

‘เอลนีโญ’ลากยาว 3 ปี เตือนไทยรับมือแล้ง

รสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 
เข้าชม 266 ครั้ง

ปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มขึ้นแล้ว หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ลานีญาลากยาวมาอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า จะเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ และอาจก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนหลายพื้นที่ ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติประกาศประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วม ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะการเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ให้ใช้ได้มากที่สุดและแผนจัดสรรน้ำ

เวที “การจัดการน้ำภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ 2566-2570” ณ ห้องประชุม 1 สกสว. เหล่าคณะวิจัยและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและภูมิอากาศยืนยันไทยกำลังเผชิญกับภาวะเอลนีโญอีกครั้ง พร้อมฉายภาพจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แนวโน้มของสภาพน้ำท่า และทางออกของการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิด

สภาพอากาศและแนวโน้มของปริมาณฝนจากนี้ไป ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญสลับไปมา มีผลต่อร่องฝนทำให้ฝนมากผิดปกติ หรือฝนน้อย เอลนีโญมี 3 สภาวะ คือ ร้อน เย็นและช่วงที่สภาวะเป็นกลาง แต่ละแบบส่งผลกระทบต่างกัน  ซึ่งเอลนีโญในสภาวะร้อนจะเกิดขึ้นเป็นวงจรทุก 2-7 ปี โดยน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวขึ้นมายังผิวน้ำใกล้กับบริเวณชายฝั่งของอเมริกาใต้ ก่อนจะแผ่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร ทำให้บรรยากาศของโลกอุ่นขึ้น“ ช่วงโควิดเกิดปรากฎการณ์ลานีญา 3 ปีติด ตอนนี้กลับมาเกิดเอลนีโญ ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 0.7 องศา ถือว่าเข้าสู่เงื่อนไขเอลนีโญ และสถานการณ์เอลนีโญพัฒนาตัวมากขึ้น   จากการใช้แบบจำลอง 7+1 คาดการณ์ว่า มีโอกาสจะเกิดเอลนีโญในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยในช่วงปี 2566 – 2571  จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2568  ภาคใต้จะแล้งรุนแรง  และในปี 2571  จะเกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง อีกแบบจำลองคาดการณ์ตรงกันปี 63-64 จะเกิดภาวะแห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำอย่างเดียวไม่ได้บอกถึงความแห้งแล้ง งานวิจัยอีกชิ้นจึงได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนที่สัมพันธ์กับน้ำท่า สามารถเตือนได้ล่วงหน้า 3 เดือน หากน้ำน้อยจริงจะได้รับมือ รวมถึงหาความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำท่ากับความชื้นในดิน ก็ 3 เดือนล่วงหน้า เพื่อการเตรียมตัวรับมือ “ ดร.ชลัมภ์ กล่าว

ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) บอกว่า สสน.ใช้แบบจำลองเชิงตัวเลขในการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะสั้น 7 วัน รายฤดูกาล และศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อวางแผนระยะยาวให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพัฒนาเทคนิคใช้ machine learning ประยุกต์ใช้กับการคาดการณ์ระยะยาว 5 ปี เช่นเดียวกับการคาดการณ์ฤดูกาล ทั้งนี้ ผลกระทบจากเอนโซ่ (เอลนีโญและลานิญา) จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยทางทะเล ลมมรสุม มหาสมุทรทั้งสองฝั่งทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย จากสถิติปี 2493-2566 ในรอบ 74 ปี โลกเผชิญเอลนีโญทั้งหมด 26  ครั้ง เป็นแบบรุนแรง 5 ครั้ง รุนแรงมาก 3 ครั้ง เอลนีโญทั้งหมด 45 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี ติดกัน 7 ครั้ง และจำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด6 ปี ส่วนภาวะลาณีญา 25 ครั้ง แบบรุนแรง 7 ครั้ง ลานีญาทั้งหมด 38 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี และ 3 ปีติดกันทั้งหมด 3  ครั้ง จำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด 8 ปี ส่วนปีที่มีทั้งเอลณีโยและลานีญา ทั้งหมด 13 ปี“ จากการศึกษาแบ่งเป็น  3 กรณี จะเกิดเอลนีโญต่อเนื่อง  กรณีแรกปีนี้จะเริ่มเป็นซุปเปอร์เอลนีโญ อยู่ระหว่าง 1.5 องศา แต่มีโอกาสปีที่ 2 และปีที่ 3 ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ กรณีที่ 2 เริ่มเอลนีโญและลากยาว 2 ปี  กรณีที่ 3 เอลนีโญอยู่ยาว แต่ภาวะอ่อน อย่างไรก็ตามทุกแบบปีหน้าน่ากลัว  มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนน้อยและเกิดความแห้งแล้ง ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น “ ดร.กนกศรี คาดการณ์สภาพอากาศรุนแรงจะเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น 

สำหรับสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยจนน่ากังวล  บนเวทีมีการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2566/2567 ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บอกว่า ผลจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำล่วงหน้า 6 เดือน   คาดว่า เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเข้าอ่างประมาณ 7,987 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าค่าเฉลี่ย 23 ปี คิดเป็นร้อยละ 44 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มประมาณ 3,216 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 46  จะมีปริมาณน้ำไหลเขาอ่างเก็บน้ำรวมเท่ากับ 11,202 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน 10,889 ล้าน ลบ.ม.   ส่วนการพยากรณ์น้ำท่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติน้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 28ความกังวลต่อปรากฎการณ์เอลนีโญนั้น ผศ.ดร.จุติเทพ กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบระยะยาวของปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยใช้ปีตัวแทนในการประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ พบว่า เอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องในระยะยาวได้ “ ผลจากแบบจำลองเป็นที่ชัดเจนว่าน้ำท่าตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีความผันแปร โดยรวมแล้วปีนี้ยังไหว มีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปีหน้า แต่ก็กังวลปีต่อไปว่า ผลของเอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด หากรุนแรงมากจะทำให้น้ำที่เติมสู่แหล่งน้ำน้อยลง กระทบต่อการปลูกข้าวนาปรัง จำเป็นต้องติดตามทิศทางความรุนแรงของเอลนีโญว่าจะเข้มข้นขึ้นหรือลดลง “ ผศ.ดร.จุติเทพ ย้ำ

ส่วนมาตรการรับมือฤดูฝนและเอลนีโญ  ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติ 28% ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีฝนน้อย การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในขณะนี้เทียบเท่ากับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปีนี้ฝนทิ้งช่วงจะตกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม   “จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า ปี 65  11,484 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่คาดการณ์ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา 1 พ.ย. 2566 มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15,699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ส่วนปริมาณน้ำใช้การ คาดว่าจะมี 9,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 65  5,000 ล้าน ลบ.ม. “ดร.ธเนศร์ กล่าวต่อว่า ต้องกำหนดแนวทางการจัดการน้ำในสภาพเอลนีโญ  โดยเก็บกักน้ำเต็มประสิทธิภาพในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนให้มากที่สุด คาดจะมีน้ำใช้การ 9,000 ล้าน ลบ.ม. ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ไทยเผชิญฝนต่อแล้ง แล้งต่อฝน คุณภาพน้ำ น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน

ผลกระทบจะเกิดขึ้นในภาคเกษตร ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำฯ ระบุ การจัดการน้ำภาคการเกษตร ต้องวางแผนพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าว 2 ล้านไร่ ไม่ว่ายังไงก็ปลูก  ควบคู่รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการใข้น้ำ จนกระทั่งมาตรการพักนา ต้องนำมาปฏิบัติ  นอกจากนี้ กรมชลประทานมี 6 แนวทางปฏิบัติ อาทิ  เก็บเต็มประสิทธิภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง  ระบบชลประทานเร่งระบายส่วนมาตรการรองรับแล้ง ดร.ธเนศร์ กล่าวว่า ต้องบริหารน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและเพียงพอกับความต้องการ จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีเสี่ยงภัยแล้ง ตรวจสอบความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ จัดสรรตามกิจกรรมหลัก สำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝนกรณีฝนทิ้งช่วง และประเมินผลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  ประเทศไทยจะพบกับวัฏจักรน้ำท่วมน้ำแล้งไปตลอด ติดกับ เกษตรกรรายได้น้อย จะต้องหยุดวัฎจักรนี้ใช้การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและระยะยาวมากขึ้น ใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว ยกระดับแบบเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส  จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและอาชีพกับประชาชนระดับรากหญ้านอกจากนี้ ควรมีมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานเทคนิค ทั้งนี้ การจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการ ต้องติดตาม พยากรณ์ และแจ้งเตือน ประเมินความเปราะบางและผลกระทบ มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบ และการจัดการเชิงรุกตามความเสี่ยงของพื้นที่

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipost.net/news-update/399408/