ความสำเร็จของสวนผักผลไม้แม่ติ๋ว เกษตรกรตัวอย่างกำแพงเพชร เปลี่ยนสวนส้มมาปลูกมะนาวควบแน่น แบบไร้สารเคมีตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชเครื่องส้มตำ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ การผลิตไม้ผลที่มีคุณภาพมาตรฐาน GAP
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นางนิตยา เจนจบ เกษตรอำเภอบึงสามัคคี เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคี และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่ดูการดำเนินงานของเครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) สวนผักผลไม้แม่ติ๋ว เกษตรกรต้นแบบ สาขาอาชีพทำสวน ของนายนพดล กระดาษทอง หมู่ 3 ตำบลเทพนิมิต อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร เกษตรที่ประสบความสำเร็จการผลิตตามหลักการ GAP และเกษตรผสมผสาน ยึดมั่นหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ด้านการขยายพันธุ์มะนาวแบบควบแน่น การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การผลิตที่ถูกหลักเกษตรที่ดีและเหมาะสม GAP ผลงานที่โดดเด่น รางวัลที่ 1 เกษตรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม ระดับจังหวัด ประจำปี 2558 รางวัลที่ 3 เกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ระดับจังหวัด ประจำปี 2566
สำหรับนายนพดล กระดาษทอง และครอบครัว เริ่มทำอาชีพเกษตรกรด้วยการทำสวนส้มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แต่ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอในการเก็บออม และใช้หนี้ ในช่วงปี 2558 พบว่า มะนาวมีราคาดี และได้ผลผลิตดี จึงได้เริ่มต้นปลูกมะนาว พร้อมทั้งเข้ารับการส่งเสริมการเกษตรจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคี ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมต่างๆ และมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตร จากทั้งนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน ได้มีโอกาสไปอบรม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี จึงได้นำแนวคิดและองค์ความรู้ที่ได้รับ กลับมาปฏิบัติในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง เช่นการวางแผนแปลงเกษตร การทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีฟาร์ม การบำรุงรักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การลดการใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ใช้วิธีทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ มีการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า การปลูกป่าในพื้นที่การเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางการเกษตร
ผลงานกิจกรรมที่ทำในปัจจุบัน เป็นเกษตรกรสาขาพืชสวน พืชหลัก คือ มะนาว พืชรอง คือ มะละกอแขกนวล พืชผัก เช่น พริก ฟักทอง บวบเหลี่ยม ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้พะยูง ไม้มะค่า สักทอง มะฮอกกานี และปล่อยปลากินพืชในร่องสวน เป็นประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของตำบลเทพนิมิต อำเภอบึงสามัคคี กิจกรรมการทำเกษตรผสมผสาน จัดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชสวน ได้แก่ จุดสาธิตการผลิตปุ๋ยหมัก, จุดสาธิตการผลิตน้ำหมักชีวภาพ, แปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน, แปลงเรียนรู้การผลิตที่ถูกหลักเกษตรที่ดีและเหมาะสม GAP เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการผลิตที่ถูกหลักเกษตรที่ดี และเหมาะสม GAP การทำเกษตรแบบผสมผสาน และโคกหนองนา
จุดเด่นของสวนผักผลไม้แม่ติ๋ว ศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตร คือ การทำการเกษตรผสมผสาน การขับเคลื่อนเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตร โดยยึดมั่นหลักกสิกรรมธรรมชาติ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมพัฒนาสวนผักผลไม้แม่ติ๋วให้เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตไม้ผลที่มีคุณภาพได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัย ของอำเภอบึงสามัคคี
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า สำหรับ นายนพดล กระดาษทอง เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) ของอำเภอบึงสามัคคี ซึ่งมีความรู้ในการปลูกมะนาว ตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคี ได้ส่งเสริมในเรื่องของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตฮอร์โมนชีวภาพ และสารไล่แมลง เพื่อควบคุมโรค และแมลงในไร่มะนาว สามารถทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ สามารถลดต้นทุนการปลูกมะนาวมีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้าน นายนพดล กระดาษทอง เกษตรกรเจ้าของ สวนผักผลไม้แม่ติ๋ว เปิดเผยว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ปลูกส้มเขียวหวาน ทำแบบใช้สารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำจนตัวเองป่วยมีสารพิษตกค้างในร่างกาย จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก จึงได้เปลี่ยนจากส้มมาเป็นมะนาว เนื่องจากสวนข้างบ้านซึ่งเป็นญาติกัน ปลูกมะนาวแป้นพิจิตร จึงได้ขอซื้อต้นพันธุ์มาทดลองปลูก จำนวน 10 ไร่ก่อน เมื่อปลูกแล้วยังใช้เคมีทำแบบเหมือนสวนส้มอยู่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร
ต่อมาเมื่อปี 2558 ได้เข้าไปอบรมการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร ได้เรียนรู้การทำสารชีวภาพ ชีวภัณฑ์ และการทำมะนาวควบแน่น จึงได้นำสิ่งนั้นกลับมาใช้ และปลอดภัยกับตัวเราเองด้วย จากนั้นเกษตรอำเภอ มีการส่งเสริมการทำสินค้าที่ได้มาตรฐาน GAP จึงได้ร่วมเข้าโครงการ นอกจากปลูกมะนาวแล้ว ทางสวนยังเน้นเป็นสวนผสมผสาน ปลูกผลไม้ที่ตนเองชอบกินเป็นหลักด้วย แต่ที่เป็นพืชหลักนอกจากมะนาวแล้ว ยังมีมะละกอ พริก เพราะเป็นเครื่องหลักในการประกอบเมนูอาหารส้มตำ ที่คนไทยนิยมชอบรับประทานกันทั้งกลางวันและกลางคืน จึงทำให้ผลผลิตที่ออกมามีเท่าไรขายหมด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งและก็อาจจะเป็นทางรอด
การประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรการทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนอื่น ได้เห็นความสำคัญของการทำการเกษตรผสมผสาน การผลิตที่ถูกหลักเกษตรที่ดีและเหมาะสม GAP และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊กเพจสวนผักผลไม้แม่ติ๋ว ไลน์ ติ๊กต่อก และอินสตาแกรม ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และการจำหน่ายผลผลิตของ สวนผักผลไม้แม่ติ๋ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 09-1461-3595.