ผู้เขียน : กรวัฒน์ วีนิล
“จากความห่วงใยพสกนิกรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าแฝก แตกแขนงจากเครือข่ายหญ้าแฝกในประเทศ สู่เครือข่ายหญ้าแฝกนานาชาติ จนนำมาซึ่งการประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้หัวข้อ “หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในฐานะสำนักเลขาธิการของเครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทยและเครือข่ายหญ้าแฝกในประเทศบริเวณรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาก่อให้เกิดประโยชน์นานาประการต่อเกษตรกรไทยที่นำไปต่อยอดใช้มากมาย”
นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการสำนักงาน กปร. บอกถึงที่มาของหญ้าแฝก หลังจากพืชชนิดนี้กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น จากพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้คนไทยกินดีอยู่ดี โดยมีหญ้าแฝกช่วยในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม…ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับหญ้าแฝกทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์มากมาย
ยกตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ นางสาวสุนิสา อุเรศิลป์ เกษตรกรบ้านกองแหะ หมู่ 4 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในอดีต เกษตรกรท่านนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แบบสลับกันไปตั้งแต่หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี และดาวเรือง ไม่นานสภาพดินเสื่อมโทรม ขณะเดียวกัน สุขภาพคนในครอบครัวไม่ดี เพราะใช้ทั้งสารเคมีปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูก ต่อมามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาแนะนำและส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบวนเกษตร หรือเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายๆอย่างในพื้นที่เดียวกันโดยใช้หญ้าแฝกเป็นพืชเบิกนำ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของหน้าดิน ลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝน และช่วยเก็บกักอินทรียวัตถุไว้บริเวณหน้าดิน จากนั้นนำไม้ผลยืนต้นมาปลูก เช่น อะโวคาโด มะขามป้อม กาแฟ และโกโก้
หญ้าแฝกจะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ชะลอการไหลบ่าของน้ำ ช่วยอุ้มน้ำ ทำให้ดินชุ่มชื้นขึ้น ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้มาก พืชที่ปลูกก็ให้ผลผลิตดี มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ปัจจุบันผลผลิตที่ได้ขายทางออนไลน์ด้วยตนเองทำให้ได้ราคาดี และมีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดมารับซื้อถึงสวน จึงทำให้เกษตรกรท่านนี้ลดต้นทุนในการขนส่ง และมีเวลาดูแลแปลงเกษตรและครอบครัวมากขึ้น
อีกราย นางจันทร์เพ็ญ ไชยวุฒิ ประธานกลุ่มแฝกหลวง บ้านซาง หมู่ที่ 4 ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่มีสมาชิกอยู่ 30 คน ก่อตั้งเมื่อปี 2549 โดยกรมพัฒนาที่ดินได้นำต้นกล้าหญ้าแฝกมาให้ปลูก เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำปิง และปรับปรุงบำรุงดิน แก้ไขปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การใช้หญ้าแฝกเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น การนำใบหญ้าแฝกมาคลุมดินแปลงปลูกพืชผัก เช่น สลัด สลัดคอส กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก คลุมโคนต้นกุหลาบ ตลอดถึงการจัดทำธนาคารหญ้าแฝก ด้วยการผลิตต้นกล้าหญ้าแฝกสำหรับแจกจ่ายเกษตรกรนำไปปลูก
นอกจากนี้ยังต่อยอดเอาใบที่ตัดแต่งมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวก ตะกร้า กระเป๋า ของชำร่วย โดยวางจำหน่ายทั่วไป ปัจจุบันมีการต่อยอดถ่ายทอดสู่เยาวชนในชุมชน และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น หลังจากจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์สามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนมีรายได้ มีกำลังใจในการคิดค้นรูปแบบการผลิตใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความรู้ดีมาก ให้เอาหญ้าแฝกมาปลูกเพื่ออุ้มน้ำโอบดินเป็นหญ้ามหัศจรรย์จริงๆ ทำให้พื้นที่มีความสมบูรณ์เพาะปลูกพืชผักผลไม้ ได้รับผลผลิตดีมีคุณภาพ ปลูกหญ้าแฝกปีเดียวดินดีขึ้น ตอนนี้ปลูกอะไรก็สวยงาม และสร้างอาชีพเสริมจากใบหญ้าแฝกด้วย ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชุมชนที่นี่มีกว่า 200 ครัวเรือน ทุกคนเห็นประโยชน์จากหญ้าแฝก ต่างก็ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองทั้งสิ้น”.