ค้นหา

เลี้ยงปลานิลส่งออก ยกระดับมาตรฐานฟาร์มปลานิล

คุณเทียมศักดิ์ สง่ากชกร
เข้าชม 429 ครั้ง

ผู้เขียน มนตรี แสนสุข

“ปลานิล” ปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่าย โตเร็ว ได้รับความนิยมในทุกระดับ ปลานิลสามารถนำมาแปรรูปได้หลายประเภท ปัจจุบันมีการส่งออกปลานิลไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นิยมบริโภคปลานิลกันอย่างแพร่หลาย จุดเด่นของปลานิลอยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ปริมาณปลานิลมีมากพอที่จะส่งขายตลาดพื้นบ้านและตลาดต่างประเทศ ในราคาที่ไม่สูงมากนัก ปลานิลจึงเป็นขวัญใจของคนทุกระดับ

ที่จังหวัดกาญจนบุรี จากหน้าศาลากลางจังหวัดเลี้ยวซ้ายผ่านศาลจังหวัด ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลองแล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีเลาะไปตามแม่น้ำขึ้นไปทางตะวันออกประมาณ 3 กม. จะถึงกระชังปลานิลลอยอยู่ในแม่น้ำแม่กลองเป็นจำนวนมาก จัดว่าเป็นฟาร์มปลานิลใหญ่ที่สุดของเมืองกาญจน์ และของประเทศก็ว่าได้

กระชังปลา 500 กระชัง บนลำน้ำแม่กลอง

ฟาร์มปลานิลในกระชังเหล่านี้เป็นของ คุณเทียมศักดิ์ สง่ากชกร อดีตกำนันตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

จากการเลี้ยงโคนม “กำนันเทียมศักดิ์” ผันชีวิตมาทำฟาร์มปลานิลเลี้ยงปลาในกระชังที่แม่น้ำแม่กลอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก “กำนันเทียมศักดิ์” เล่าถึงที่มาแต่หนหลังก่อนจะมาเลี้ยงปลานิลในกระชังว่า เมื่อก่อนทำฟาร์มเลี้ยงโคนม มีแม่โครีดนมอยู่กว่า 100 แม่

ต้องใช้เครื่องตีน้ำให้น้ำไหลตลอดเวลา

“ถามว่า ประสบความสำเร็จไหม ประสบความสำเร็จครับ แต่พอลูกชายเรียนจบออกมาก็ให้มาช่วยเลี้ยงโคนม ไปๆ มาๆ สองคนพ่อลูกรุมกันเลี้ยงโคนมเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่พอกินน่ะซิ ผมก็เลยหันมาลองเลี้ยงปลาทับทิมดูก่อน เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว”

กำนันเทียมศักดิ์ เล่าต่อว่า เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังบนแพลอยน้ำต้นแม่น้ำแม่กลอง ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเป็นวัดท่าล้อ ตำบลท่าล้อ อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ทำบ้านอยู่บนแพ จึงเริ่มเลี้ยงปลาทับทิมครั้งแรก สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จักปลาทับทิมกันสักเท่าไร มีบริษัทเข้ามาส่งเสริมให้เลี้ยงปลาในกระชัง

กำนันเทียมศักดิ์ บอกต่ออีกว่า เลี้ยงสัตว์มาทุกชนิด พบว่าเลี้ยงปลาลงทุนน้อยกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ และเป็นการลงทุนที่ถาวร ยกตัวอย่าง การเลี้ยงโคนม จะต้องทำโรงเรือนใช้เงินลงทุนหลายแสนบาท กว่าแม่โคจะให้น้ำนมรีดได้มีต้นทุนสูง แต่กับการเลี้ยงปลาลงทุนเพียงแค่หลักหมื่น สามารถทำกำไรได้เป็นการลงทุนถาวรใช้เงินทุนไม่มาก แต่มีข้อจำกัดที่ว่าค่าอาหารปลาต้องใช้เงินสดไม่มีเครดิต แต่ถ้าเลี้ยงโคนมยังมีสหกรณ์ให้เครดิตได้

กำนันเทียมศักดิ์ บอกด้วยว่า สำหรับคนที่เลี้ยงปลาในกระชังแล้วไม่ประสบความสำเร็จนั้น เป็นเพราะขาดการดูแลกันอย่างจริงจัง ถ้าคิดจะเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริมไม่ควรทำจะมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว จะเลี้ยงปลาต้องทำเป็นอาชีพหลัก ดูแลกันอย่างใกล้ชิดจึงจะได้ดีมีกำไร

ที่ให้อาหารอัตโนมัติ กำนันประดิษฐ์ขึ้นเอง

สถานที่เลี้ยงปลาแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ บริเวณต้นน้ำแม่กลองที่เลี้ยงปลาอยู่นี้ บรรยากาศต่างๆ เอื้อต่อการเลี้ยงปลามาก แหล่งน้ำในแม่น้ำที่เมืองกาญจน์ค่อนข้างสะอาด มีน้ำไหลตลอด เมื่อก่อนเลี้ยงปลามีกำไรดีมาก แต่มาระยะหลังมีการเลี้ยงกันมากขึ้น บริษัทก็เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงมากขึ้น ทำให้โรคปลามีมากตามมา การเลี้ยงก็ยากขึ้น ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการเลี้ยงจึงจะพอช่วยพยุงให้อยู่ได้

“ผมเริ่มต้นเลี้ยงปลา 40 กระชัง พอมีกำไรก็เพิ่มกระชังเลี้ยง เพิ่มแรงงานคนเลี้ยงมากขึ้น ขยายกระชังเลี้ยงจนขณะนี้มีกระชังปลาถึง 500 กระชัง วันหนึ่งๆ จับปลาขายประมาณ 3 ตัน ส่งขายไปทั่ว เช่น ที่ตลาดไท ที่เมืองกาญจน์ และก็ยังมีรถห้องเย็นเข้ามารับซื้อปลานำไปส่งออกต่างประเทศเข้ามารับซื้ออีก ส่วนปลาที่ส่งออกเขาจะซื้อปลานิลแล่เนื้อ ส่งออกอเมริกาตรงนี้ถือเป็นตลาดสำคัญเลยทีเดียว”

ปลานิลที่เลี้ยงส่วนใหญ่ จะส่งห้องเย็นเพื่อการส่งออกมากกว่า ส่วนปลาทับทิมเลี้ยงส่งขายในประเทศ เพราะต่างประเทศยังไม่ยอมรับปลาสีแดง ปลานิลนั้นมีชื่อเสียงมานานแล้วเมื่อก่อนคนมักจะบอกว่าปลานิลกินอาหารไม่สะอาด ซึ่งจริงๆ แล้วปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลต้องเลี้ยงด้วยอาหารปลา มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้หัวเล็กตัวอ้วนหนาใหญ่ เนื้อเยอะ มีการบรีดส์สายพันธุ์ปลานิลให้ตัวใหญ่เลี้ยงโตเร็ว

ปลานิลในกระชังขึ้นมากินอาหาร

การเลี้ยงปลานิลเริ่มจากการซื้อลูกปลาควรซื้อปลาที่เรียกว่า “ใบมะขาม” ขนาดตัวจิ๋ว ราคาตัวละประมาณ 40 สตางค์ ลูกปลาขนาดใบมะขามนี้อัตราการรอดตาย 50:50 หรือบางครั้ง 100 ตัว รอดตาย 40 ตัว ก็เป็นได้ แต่ถ้าจะให้ปริมาณลูกปลารอดตายมากกว่านี้ ก็ต้องซื้อไซต์ใหญ่ขึ้นไปอีก นั่นก็หมายถึงราคาลูกปลาสูงขึ้น อยู่ที่ว่าผู้เลี้ยงมีทุนมากน้อยแค่ไหนและจะเลือกตัดสินใจอย่างไร

ในเรื่องของกระชังเลี้ยง กำนันเทียมศักดิ์ บอกว่า กระชังเลี้ยงของตนเป็นกระชังใหญ่ เพราะว่าเลี้ยงจับส่งออก เวลาจับแต่ละทีจะต้องได้ปริมาณปลามากๆ กระชังที่เลี้ยงจึงมีขนาด 3×6×3 เมตร แต่ถ้าเลี้ยงปลาส่งตลาดภายในประเทศ กระชังประมาณ 3×3×3 ก็พอ ขนาดนี้กำลังดี ครั้งหนึ่งจะจับปลาได้ประมาณ 200-300 กิโล หรือ 500 กิโล ก็ได้อยู่ที่ความสมบูรณ์ของปลาในแต่ละรุ่น ตัวกระชังใช้อวน ตาขนาด 3-4 เซนติเมตร หรือ 5 เซนติเมตร แล้วแต่พื้นที่ และกระแสน้ำว่าไหลแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ากระแสน้ำไหลแรงก็เลือกเอาอวนตาเล็ก น้ำไหลไม่แรงก็เอาอวนตาใหญ่ ใช้ถังน้ำมันเป็นทุ่น ถังพลาสติกก็ใช้ได้ต่อกันเป็นแพลอยอยู่ในแม่น้ำ ต้องดูให้น้ำไหลผ่านครบทุกกระชัง จัดจุดวางกระชังให้ดี ไม่ควรให้เป็นจุดอับที่น้ำถ่ายเทไม่สะดวก จะทำให้ปลามีปัญหาได้

สำหรับเครื่องตีน้ำ ต้องใช้แต่ไม่ใช่ใช้เพื่อเพิ่มออกซิเจน เป็นการใช้เพื่อตีน้ำให้เคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่ให้น้ำนิ่ง พอน้ำเคลื่อนไหวตลอดเวลาปลาที่เลี้ยงจะโตไว เพราะปลานิลชอบน้ำไหวมาก เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรรู้ไว้

เมื่อทำกระชังเรียบร้อยแล้ว ก็ไปซื้อลูกปลาขนาดใบมะขามมาอนุบาลในกระชังให้ลูกปลาโตประมาณครึ่งขีดจึงนำลงปล่อยเลี้ยงในกระชังใหญ่ใช้อาหารลูกปลาเม็ดหว่านให้กิน การอนุบาลลูกปลาใช้เวลาประมาณ 60-75 วัน ลูกปลาก็โตพอที่จะนำลงกระชังใหญ่ในแม่น้ำได้แล้ว

อัตราการใส่ลูกปลาคำนวณเป็นตารางเมตร ใช้ลูกปลา 40 ตัว ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร คัดปลาที่มีขนาดเท่ากันใส่ในกระชังเดียวกัน ปลานิลเพศผู้จะโตเร็วกว่าปลาเพศเมีย

สำหรับเกษตรกรมือใหม่หัดเลี้ยง “กำนัน” แนะนำว่า ต้องพิจารณาบริษัทหรือแหล่งลูกปลาที่เชื่อถือได้ สอบถามจากเพื่อนที่เลี้ยงปลาด้วยกันก็ได้ เลี้ยงปลาไปอีก 6 เดือน จับขายได้

อาหารปลานิล ให้อาหารเม็ดลอยน้ำ ปลาขนาด 50 กรัม ใช้อาหาร 32 โปรตีนให้ประมาณ 1 เดือน ลดลงมาเป็น 30 โปรตีน และลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเหลือที่ 25 โปรตีน เป็นอาหารปลาใหญ่ใกล้จับขายได้แล้ว การให้อาหารให้ 3 มื้อ

“ผมใช้ระบบออโตเมติก ให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติ เติมอาหารให้วันละ 1 ครั้ง ถังใส่อาหารปลากิน ผมทำไว้ 2 แบบ คือ แบบให้ปลาเอาหัวชนเพื่อให้อาหารล่วงลงไปในน้ำ กับแบบดูด เพราะอุปนิสัยปลาชอบดูดจุ๊บๆ”

กำนันเทียมศักดิ์ อธิบายอีกว่า ปลาฉลาดมากฝึกให้กินอาหารเองไม่ถึงชั่วโมงก็กินอาหารเป็นแล้ว สำหรับโรคที่เกิดกับปลาในกระชังมีระบาดบ้างแล้ว ส่วนที่ระบาดภายนอกตัวปลาก็มีเห็บปลาคังกับเห็บปลิงใส ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลาในกระชังกันมาก โรคที่ระบาดกับปลาก็มากตาม เกษตรกรต้องศึกษาแต่ละโรคของปลาให้ถ่องแท้ พบว่าปลามีปัญหาต้องรีบนำขึ้นมาจากกระชังเอามารักษากันก่อนที่เชื้อโรคจะระบาดไปสู่ปลาตัวอื่นๆ ในกระชัง หากมีปัญหาเรื่องตลาดปลา เรื่องโรคปลา แม้กระทั่งเรื่องการใช้ยา ยินดีให้ข้อมูลไม่มีปิดบัง โทร.มาปรึกษากันได้ที่ 081-944-3454 จะให้คำแนะนำกับทุกท่าน

กำนันเทียมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เกษตรกรท่านใดสนใจปุ๋ยปลาชีวภาพ ก็ติดต่อมาได้ ขายในราคาถูกสุดๆ เพราะแต่ละวันมีปลาในกระชังตายไม่ใช่น้อย ก็นำปลาตายมาทำน้ำหมักชีวภาพชนิดเข้มข้นเป็นฮอร์โมนพืชฉีดทางใบ ตอนนี้หมักไว้เป็นร้อยๆ ตัน ขอเพียงแค่ค่าภาชนะค่าถังคืนก็พอแล้ว ในพืชไร่นำไปใช้กับมันสำปะหลัง หรือใช้กับยางพาราก็สุดยอดเลย สนใจโทร.มาคุยกันถูกใจให้ฟรีก็ได้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/fishery-technology/article_79917