การเป็นเกษตรกรของคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่หันไปทำเกษตรและประสบความสำเร็จมีให้เห็นมากขึ้น รวมถึง เกษตรกรหนุ่ม ในวัยเพียง 22 ปี รายนี้ ที่ประสบความสำเร็จเป็นเกษตรกรที่มีรายได้เดือนละ 10 ล้านบาท นั่นหมายถึงต่อปี เค้ามีรายได้เป็น 100 ล้าน บาท หลายคนก็คงอยากจะรู้แล้ว ว่า เกษตรกรรายนี้ เป็นใครและทำยังไงมีรายได้สูงขนาดนี้
มารู้จัก เส้นทางเกษตรกรเงินล้าน หนุ่มวัย 22 ปี
วันนี้ เลยพามารู้จักกับ หนุ่มวัย 22 ปี รายนี้ มีชื่อว่า “ณพทัศน์ ศิริวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทจุรินทร รวมโชค ร.ศ.211 จำกัด เล่าว่า การเข้ามาเป็นเกษตรกร ของผมเริ่มขึ้นหลังจากที่พ่อ แม่ ผมทำเกษตรทำสวนแคนตาลูป ไร่สับปะรด และด้วยความที่พ่อเองรู้จักกลุ่มเกษตรกรทำสวนเหมือนกันเยอะ คุณพ่อจึงมองเห็นโอกาสว่าน่าที่จะต่อยอดในการสร้างรายได้ขึ้นมา ถ้าเรามาเป็นตัวกลางในการนำผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรไปส่งขายน่าจะสร้างรายได้กับตัวเรา และช่วยเกษตรกรได้มีช่องทางในการขายผลผลิตด้วย ได้ทั้งสองทาง
หลังจากนั้น พ่อได้นำผลผลิตกลุ่มเกษตรกรไปนำเสนอกับโมเดิร์นเทรดชื่อดัง อย่าง แม็คโคร และ ทางครัวการบินไทย การเข้าไปติดต่อกับ รายใหญ่แบบนี้ เราก็ต้องมั่นใจว่า ผลผลิตที่เราจะไปส่งเค้าต้องได้มาตรฐานและดีจริงๆ เค้าถึงจะยอมดิวกับเรา ซึ่งตอนพ่อทำไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเจออุปสรรคในระหว่างการทำงานอยู่เยอะมาก แต่พ่อเองก็สู้จนผ่านมาได้ จนได้เป็น ซัพพรายเออร์ให้แก่ครัวการบินไทยและได้ส่งผลไม้ให้แก่ห้างดังอย่างแม็คโคร ผลไม้หลักที่เราส่ง ได้แก่ แคนตาลูป เมล่อนญี่ปุ่น สับปะรดตราดสีทอง มะละกอฮอลแลนด์ ส้มสายน้ำผึ้ง และยังมีเบ็ดเตล็ดอื่นๆที่ผู้บริโภคต้องการจะใช้ ในส่วนที่เป็นผลผลิตของสวนเรา จะมีแค่แคนตาลูป สับปะรด และเมล่อนญี่ปุ่น (ที่ปลูกในโรงเรือน)
เรียนรู้การทำงานจากครอบครัวตั้งแต่มัธยมต้น
ณพทัศน์ เล่าถึงการเข้ามารับช่วงต่อดูแลกิจการนี้ ว่า ส่วนตัวผมมีความตั้งใจที่จะเข้ามาดูแลธุรกิจนี้ ตั้งแต่สมัยผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เพราะผมชอบค้าขาย เห็นพ่อแม่ทำงานค้าขายมาตั้งแต่เด็ก ผมก็จะซึมซับการทำงานตรงนั้นมาตลอด เป็นเหตุผลที่ทำให้เราชื่นชอบตรงนี้ และผมอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วย ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจจากคุณพ่อมาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่เราชอบ ไปพร้อมกับการเรียน และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เราไม่ได้รู้สึกอะไร ในวันที่ต้องมาทำงานเป็นเจ้าของกิจการดูแลทุกอย่างแบบเต็มตัวเมื่อตอนอายุ 22 ปี
หลายคนมองว่า ธุรกิจที่มีรายได้เป็น 100 ล้านแบบนี่ จะให้คนอายุ 20 ต้นๆ มาดูแลจะไปรอดไหม ผมก็ต้องบอกว่า ผมทำมาตั้งแต่ผมอายุ เพียง 15- 16 ปี และประกอบกับเราต้องการจะทำไม่ได้มีใครมาบังคับ การทำงานที่ต่อยอดหรือ ทายาท ก็จะไม่ได้ยากมากเหมือนการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมีเช่นกัน แม้ว่าเราจะมีครอบครัวคอยให้คำปรึกษา แต่สุดท้าย พอวันที่เค้าว่างมือการตัดสินใจการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามันก็ต้องมาจากเรา ในส่วนของความยากง่ายผมคิดว่าค่อนข้างที่ยากเพราะธุรกิจการเกษตรมีโอกาสที่ผลไม้จะเกิดการเสียหายได้ ต้องทำการวางแผนในการขายให้ดีเพราะสินค้ามีวันหมดอายุ และเน่าเสีย
สร้างรายได้เดือนละ 8-10 ล้านบาท
สำหรับ บริษัทจุรินทร รวมโชค ร.ศ. 211 เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2537 ส่วนการเข้ามาสานต่อธุรกิจ ของ “ณพทัศน์” เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเค้าสามารถทำได้ดี เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเครือข่ายเกษตรกรมากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกร ถ้าเป็นภาคเหนือ ก็มีตั้งแต่อยุธยา ไปจนถึง แม่สอด ส่วนทางใต้ก็จะเป็นสับปะรด เค้ามีเครือข่ายตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงระยอง ส่วนเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายเยอะๆ มาจากพื้นที่จังหวัด ชัยนาท นครสวรรค์ และ ตาก
ในส่วนของรายได้ ปัจจุบันมีรายได้ประมาณเดือนละ 8 – 10 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสมัยที่คุณพ่อทำเกือบเท่าตัว เพราะสมัยก่อนราคาผลผลิตไม่ได้สูงมากเหมือนอย่างทุกวันนี้ เช่น เมื่อก่อนแคนตาลูป 3,000 กิโลกรัมขายกันอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นบาท แต่ในปัจจุบัน แคนตาลูป 3,000 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 120,000 บาท
ในขณะที่ผลตอบแทน กำไรที่เกษตรกรจะได้รับของผลไม้แต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไป เช่น แคนตาลูปการลงทุนปลูกคิดเป็นต้น ซึ่งพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณสัก 4000 ต้น ต้นทุนประมาณ 18 บาทต่อต้น ปกติจะขายเป็นกิโล ราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละซีซั่น ผลผลิตในช่วงหน้าร้อนจะได้ 80-85% ผลผลิตในช่วงหน้าฝนอยู่ที่ประมาณ 60-65% และในช่วงหน้าหนาว ทำให้ผลผลิตลูกเล็กลง ได้ผลผลิตไม่เกิน 70% เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของเมล่อนต้นทุนการปลูกอยู่ที่ต้นละ 25 บาท (ปลูกในโรงเรือน) ผลผลิตเช่นเดียวกันกับแคนตาลูป กำไรอย่างน้อยอยู่ที่ 50% โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนจะมีกำไรดีที่สุด ฤดูอื่นอาจจะมีผลผลิตเสียหายทำให้ขายไม่ได้ เช่นช่วงหน้าฝน ฝนตกน้ำท่วม ฝนชุกมากเกินไปก็ไม่สามารถทำได้ และเนื่องจากเป็นสินค้าการเกษตรความยากอยู่ที่ความผันแปรตามสภาพอากาศด้วย
ความต่างของเกษตรยุคเก่าและยุคใหม่
ณพทัศน์ เล่าถึงการเป็นเกษตร และการทำธุรกิจด้านการเกษตรของครอบครัว ว่า เมื่อก่อนเกษตรกรไม่มีความชำนาญ ปลูกโดยความเคยชินใช้สารเคมีกัน ทำให้มีสารตกค้าง แต่พอเราเข้ามาทำในระบบปลอดสาร แต่ก็ไม่ได้ทำแบบอินทรีเลยทีเดียว เพราะมีขั้นตอนที่ยากกว่า และเกษตรกรเองก็ต้องลงทุนสูงมาก ในช่วงแรกครอบครัวเราและเกษตรกรที่เราไปรับผลผลิตเค้ามาขาย ก็ทำแบบเดียวกับเรา ปัจจุบันมีตัวช่วยที่เยอะกว่าในอดีตทำให้การทำเกษตรแบบปลอดสารทำได้ไม่ยาก และเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มหันมาทำเกษตรแบบปลอดสารกันมากขึ้น เพราะสามารถขายได้ราคาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
“แต่ถ้ามองในเรื่องการทำธุรกิจ ที่ไม่ใช่การทำเกษตร ส่วนตัวผมเอง รู้สึกได้เลยว่า มันยากกว่าตอนที่พ่อทำในเรื่องการแข่งขันจำนนคู่แข่งที่มากขึ้น ทำให้โอกาสในการค้าค่อนข้างที่จะน้อยลง แต่เราก็ยังสามารถหาคู่ค้าได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มจำนวนของผลผลิตให้มากยิ่งขึ้นได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการผมมองว่าง่ายกว่าในอดีตเพราะมีตัวช่วยทางด้านเทคโนโลยีช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น”
ในส่วนของการหาคู่ค้าหรือลูกค้า ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ได้ยากมาก ผมอาจจะโชคดีที่พ่อปูทางไว้ให้ แต่จากประสบการณ์ผมทำงานกับพ่อมาจะเห็นทุกขั้นตอน ผมมองว่า การที่เราจะสามารถหาคู่ค้าที่ธุรกิจขนาดใหญ่ในมุมของผมไม่ได้ยากขนาดที่หลายคนมองเข้ามา เพียงแค่ต้องทำให้ถูกตามกฎระเบียบที่ทางห้างสรรพสินค้าระบุไว้เช่น การมี GAP และ อย. มีการทำสวนและโรงเรือนตามมาตรฐานที่ทางห้างกำหนด
ติดต่อ โทร.09-7916-2949 , 02-514-3552