ลุงแกละชาใบขลู่และวิสาหกิจชุมชนบ้านสันดาป ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 โดยเกิดจากการรวมตัวกันของชุมชนบ้านตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำพืชสมุนไพรใบขลู่ที่มีจำนวนมากในท้องถิ่น ซึ่งมีสารพฤกษเคมีมากมายหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ โดยมีงานวิจัยรองรับแล้วว่าสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ทั้งนี้ศาสตร์แผนไทยตามตำรายา ได้มีการนำใบขลู่มาใช้รักษาอาการขัดเบา ขับปัสสาวะ แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนลุงแกละ ยังไม่ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์โอทอประดับ 5 ดาว เนื่องด้วยความไม่พร้อมด้านโรงเรือนสถานที่ และกระบวนการผลิตขลู่อบแห้ง ที่มีการตรวจพบเชื้อราและยีสต์เกินระดับมาตรฐานที่กำหนด
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถพัฒนาศักยภาพโอกาสในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับการพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช ผศ.ดร.วรวิทย์ จันทร์สุวรรณ อาจารย์อัญชนา ขัตติยะวงศ์ และ ดร.ปิยธิดา พันธุนะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ศึกษาพัฒนากระบวนการล้างใบขลู่ เพื่อลดปริมาณสารพิษ สำหรับควบคุมคุณภาพการผลิตสมุนไพรใบขลู่อบแห้งสำหรับชงดื่ม ให้วิสาหกิจชุมชนลุงแกละชาใบขลู่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนระยะที่ 1 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ประจำปี 2563 ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช กล่าวว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชงดื่มเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เช่นเดียวกับใบขลู่อบแห้งชงดื่ม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปจากฝีมือชาวบ้านชุมชนพันท้ายนรสิงห์ ในการนำวัชพืชที่งอกงามอยู่ใกล้กับป่าชายเลนมายกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม จนเป็นสมุนไพรออร์แกนิคคุณภาพสำหรับชงดื่ม โดยขั้นตอนวิจัยได้ศึกษาพัฒนากระบวนการล้างใบขลู่โดยศึกษาปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การวิเคราะห์สมบัติเคมี กายภาพและจุลชีพของใบขลู่ ได้แก่ ความชื้น ปริมาณยีสต์ รา และโลหะหนัก 2.การยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานมากกว่า 4 เดือน 3. การศึกษาข้อมูลทางประสาทสัมผัสของผู้บริโภคเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการประเมินความพึงพอใจต่อคุณลักษณะที่มีต่อผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น รสชาติ สรรพคุณ และอื่น ๆ วิเคราะห์ฤทธิ์ต่าง ๆ ทางเภสัชเคมีในใบขลู่ พบสาระสำคัญเช่น แทนนิน คาเทชิน เคอซิติน กรดแลกติก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนี้ใบขลู่ที่ได้ยังมีความหอม อร่อย สีสันสวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ขลู่แห้งชงดื่มรายแรกและเป็นเพียงรายเดียวในประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่ม มียอดขายเพิ่มจากเดิมมากกว่า 10 %
ผศ.ดร.สิริรัตน์ พานิช กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการแก้ไขและพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้ชาใบขลู่มีคุณภาพที่สูงขึ้น เนื่องจากขั้นตอนการผลิตใบขลู่แห้งมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง และมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องพิถีพิถัน ใช้พลังงานจำนวนมากทำให้มีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ดังนั้นการวิจัยในระยะที่ 2 จึงมุ่งให้มีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าการผลิต เพิ่มคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธุนะ และ ดร.เกรียงไกร เหลืองอำพล ทำการพัฒนาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นแบบอัตโนมัติ ในโดมพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบล่าโดม) ที่สามารถตรวจสอบผลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อควบคุมคุณภาพการอบสมุนไพรใบขลู่ ลดเวลา แรงงาน และขั้นตอนในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ โดยได้รับการสนับสนุนทุน จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใบขลู่อบแห้งที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และลดปัญหาเชื้อราได้ 100 %
โดยกระบวนการวิจัยเริ่มตั้งแต่การล้างทำความสะอาดด้วยวิธีเฉพาะ ที่ทำให้สามารถกำจัดเชื้อราและยีสต์ ก่อนนำไปผ่านขบวนการตากแห้งในโดมอบสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นทำการตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิให้กระจายทั่วบริเวณจุดตากใบขลู่ และตรวจวัดอุณหภูมิภายนอกโดม เพื่อป้องกันการไหม้ของใบขลู่ จากนั้นทำการเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ปริมาณยีสต์ เชื้อรา สารปนเปื้อนต่าง ๆ ได้แก่ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง โดยใบชาที่ได้ มีสีสวยงาม เมื่อต้มแล้วจะเป็นสีเหลืองทองน่ารับประทาน มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของลุงแกละ
“ในอนาคตทีมวิจัยจะมีการพัฒนาปรับปรุงสูตรและสมุนไพรอื่น ๆ ในท้องถิ่นที่สามารถนำมาผสมกับใบขลู่แห้ง เพื่อเพิ่มรสชาติ กลิ่น และฤทฺธิ์ต่าง ๆ เช่น มะแว้ง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรในผลิตภัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพ เครื่องสำอางและการชะลอวัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทรศัพท์ โทร 0 2836 3000 ต่อ 4156, 4159 หรือที่ https://www.facebook.com/