ดร. สุนัดดา เชาวลิต นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า “หนอนกาแฟสีแดง” จัดเป็นศัตรูสำคัญของพืชเศรษฐกิจและพืชป่าไม้หลายชนิด เช่น ชา กาแฟ โกโก้ อโวกาโด ฝรั่ง น้อยหน่า ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด ส้มโอ แอลเปิ้ล องุ่น ทุเรียน ทับทิม มะขามเทศ ฝ้าย ยูคาลิปตัส สัก มะฮอกกานี ตะแบก และพืชสกุลชัยพฤกษ์ เป็นต้น
ความเสียหายเกิดจาก การเจาะเข้าทำลาย ทำให้กิ่งหรือลำต้นแห้งตายเหนือรอยที่หนอนเจาะ เพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มหรือฟองเดี่ยวตามเปลือกไม้ ระยะไข่ 7 – 10 วัน เมื่อหนอนฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในกิ่งหรือลำต้นและกัดกินอยู่ภายใน
หนอนกาแฟสีแดง เมื่อโตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.5 – 5.0 เซนติเมตร ระยะหนอน 2.5 – 5.0 เดือน เข้าดักแด้ในลำต้นหรือยอดที่หนอนกัดกิน ระยะดักแด้ 2 – 3 สัปดาห์ จึงฟักออกเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมจะผสมพันธุ์ทันที ตัวเต็มวัยเมื่อกางปีกออก (wingspan) มีขนาด 4 – 5 เซนติเมตร ปีกและลำตัวสีขาวมีจุดสีดำประปราย
การป้องกันกำจัด เนื่องจากหนอนกาแฟสีแดงพบได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงโดยสังเกตจากกิ่งที่แห้งตายหรือมูลของหนอนที่ขับถ่ายออกจากรังตามกิ่งหรือโคนต้น หากพบลักษณะดังกล่าวให้ตัดออกนำไปทำลายนอกแปลง เพื่อกำจัดและลดแหล่งสะสมขยายพันธ์ุ