ค้นหา

“วอร์รูม” รับมือเอลนีโญ ปลัดพาณิชย์ขีดเส้น “ตระหนัก แต่อย่าตระหนก”

กระทรวงพาณิชย์
เข้าชม 294 ครั้ง

สถานการณ์ “เอลนีโญ” ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ประเทศไทยมอบหมายภารกิจ-ติดตาม ด้วยการตั้งคณะทำงานระดับวอร์รูม โดยมี “กีรติ รัชโน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

คณะกรรมการระดับรองประธาน ครอบคลุมองค์กรที่สำคัญ มีทั้งกระทรวงพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หน่วยงานสนับสนุนที่จะร่วมกำหนดทิศทางใหญ่ในการบรรเทาปัญหา จะมีการระดมสรรพกำลังจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยา กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ

กีรติ รัชโน

เป้าหมายและธงนำของวอร์รูมคือ การรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูลให้แม่นยำมากที่สุด ภายใต้หลักการ “ตระหนักได้แต่อย่าตระหนก”

ล่าสุดผ่านการประชุมจัดทัพไปแล้ว 1 ครั้ง วอร์รูมนี้จะบริหารสถานการณ์สะเทือนโลกอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ค้นหาคำตอบไว้ในการสัมภาษณ์พิเศษ “กีรติ รัชโน” ในฐานะประธานวอร์รูม

ภาวะเอลนีโญปกคลุม 3 ปี

“กีรติ” ฉายภาพว่า ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า ไทยกำลังเข้าสู่สภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนลบ 5% ของปี 2566 จากค่าเฉลี่ยน้ำฝน 30 ปี และคิดว่า 2566 จะเจอสภาวะเอลนีโญระดับปานกลางถึงรุนแรง อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส

“ปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิตจะเป็นอย่างไร เช่น ช่วงปลายเดือนตั้งแต่กันยายนถึงพฤศจิกายน 2566 ต้องดูว่าจะมีพายุเข้ามามากน้อยขนาดไหน จะตกเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติกำหนด

แต่อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าเอลนีโญจากปีนี้ไปอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีความเข้มข้นและรุนแรง เอลนีโญจะเกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตรในเขตแปซิฟิก เราก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบนี้”

โจทย์ใหญ่ “ความมั่นคงอาหาร”

สำหรับผลกระทบเรื่องความมั่นคงของอาหาร ต้องพิจารณาว่ามีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องดูสมดุลหลายเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลัก คือข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะไปมีผลกระทบต่อห่วงโซ่ของปศุสัตว์ทั้งหมด

พร้อมกับการสร้างสมดุลการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก สร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคภายในประเทศว่าอาหารมีเพียงพอต่อการบริโภค

“คณะทำงานชุดนี้มีบทบาทอย่างมาก จะเป็นจุดเริ่มต้น รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ขอให้ขีดเส้นใต้คำว่าตระหนักได้แต่อย่าตระหนก เช่น บางส่วนกังวลว่าข้าวแพง จะส่งออกหมด พอกินไหม ตระหนกจนถึงขนาดจะต้องไปตุนข้าว

ซึ่งหน้าที่เราต้องติดตามข้อมูล พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด บริหารจัดการอย่างเหมาะสม และต้องสื่อสารข้อมูลส่วนนี้กับทุกภาคส่วน โดยใช้กลไกของหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ไม่ให้เกิดความวิตกกังวล”

มาตรการรับมือ “ไม่ห้ามส่งออก”

“เราเชื่อมั่นว่าพืชหลายตัวถึงแม้ว่าจะบวกจะลบนิดหน่อยก็เป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้อยู่แล้วในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเคยมีภัยแล้งก็ผ่านมาหลายสถานการณ์แล้ว คิดว่าไม่น่าเป็นห่วง และสิ่งที่สำคัญคือ เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ คงไม่ได้ออกมาเบรก เช่น ห้ามส่งออกหรืออะไรที่เป็นยาแรงขนาดนั้น การออกมาตรการที่เป็นยาแรง หรือจำกัดการนำเข้าถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดไม่สามารถเดินไปได้

ดังนั้น เราจะมีการวิเคราะห์กฎระเบียบหรือมาตรการที่มีอยู่ ประเมินผลอย่างละเอียดว่ามาตรการที่จะออกมาในการกำกับดูแล อะไรก็แล้วแต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและการค้า เป็นสิ่งที่พยายามทำให้เกิดความบาลานซ์”

การใช้มาตรการจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก เพราะว่าการออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเบาหรือหนักจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่คงต้องเป็นในลักษณะขอความร่วมมือพูดคุย โดยอยู่บนพื้นฐาน วิน-วินโมเดล คือสินค้าในประเทศต้องพอกิน ราคาไม่กระทบต่อผู้บริโภคมากนัก เพื่อให้ตลาดไม่กระเพื่อมมาก

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าโลกร้อน ซัพพลายพืชผลใด ๆ ก็ตามลดลง ราคาสูงขึ้นทำให้เกษตรกรได้โอกาสตรงนี้ ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกร แต่ขณะเดียวกัน จะต้องดูเรื่องความบาลานซ์ ว่าไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนด้วย

“อินเดีย” ห้ามส่งออก-ไทยลุ้นออร์เดอร์ข้าว 3 ล้านตัน

ในกรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว จากปัจจัยภายในหลาย ๆ อย่าง ทั้งการดูปริมาณผลผลิต เพื่อให้การบริโภคภายในประเทศเพียงพอ ในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรเกี่ยวกับเงินเฟ้อด้วย จึงเป็นสาเหตุยกมาตรการนี้มาใช้ จากปีที่แล้วเก็บภาษี ปีนี้แบน ทำให้ราคาลดลงทันที 12-15% เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง แต่ล่าสุดมีข่าวว่าจะแบนในระยะสั้น พฤศจิกายน-ธันวาคม

“การห้ามส่งออกข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น วิเคราะห์แบบเร็ว ๆ จะทำให้เราส่งออกได้เยอะ ในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกข้าวรีเพลซแทนอินเดียได้ เพราะข้าวจะหายไป 3 ล้านตันในตลาด จากที่เขาไม่ส่งออก แต่แน่นอนก็ต้องแข่งกัน เวียดนามก็เก็งเหมือนกันว่าจะขายหมู ก็พยายามเน้นย้ำให้มีสต๊อกก่อนส่งออก

ขณะที่ผู้นำเข้าเก็งเหมือนกัน ถ้าฝนน้อยก็ต้องรีบซื้อไปสต๊อกเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีออร์เดอร์ใหม่ก้อนใหญ่เข้ามา แต่จะยังคงเหลือที่เป็นออร์เดอร์ค้างส่งมอบ 200,000-300,000 ตัน เราให้ทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ทั้งประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าว”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ราคาข้าวปรับสูงขึ้น ทำให้เกิดคำสั่งซื้อชะงักงันลงไป เพราะไม่มั่นใจว่าราคาจะนิ่งเมื่อไหร่ การซื้อขายข้าวเป็นการซื้อขายล่วงหน้า ซื้อวันนี้ราคาข้าวอาจจะขึ้นไปในอนาคต ฉะนั้น ตอนนี้ใครที่มีสต๊อกจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก และเมื่อไหร่ที่สต๊อกเขาหมด ต้องซื้อข้าวเพื่อส่งมอบ ต้องมีการคาดการณ์ว่าราคาจะวิ่งไปถึงไหน

ท้ายที่สุดตอนนี้ราคาข้าวเปลือกปรับขึ้นไปถึง 12,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของชาวนาที่จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น การให้ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้นมา อีกด้านจะช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมา

แผนบริหารอู่ข้าว-อู่น้ำ ครัวของโลก

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ระหว่างนี้สั่งการกรมการค้าต่างประเทศติดตามตัวเลขส่งออก ของผู้ส่งออกที่มาขอใบอนุญาต ซึ่งปกติจะเฉลี่ยที่ 7-8 แสนตันต่อเดือนไม่น่าห่วง แต่ถ้าเมื่อไหร่ตัวเลขหลุดไปปริมาณ 1 ล้านกว่าตันต่อเดือน ต้องกลับมาดูว่าส่งออกเยอะไปหรือไม่ ภายในประเทศเพียงพอหรือไม่

แต่ด้วยธรรมชาติของประเทศไทย ผลผลิตข้าวครึ่งหนึ่งส่งออกครึ่งหนึ่งใช้ภายในประเทศ คิดว่าไม่น่ากังวลปัญหาขาดแคลน ถึงแม้ว่าตัวเลขกระทรวงเกษตรฯ มีผลผลิตข้าวภาพรวมปี 2565 ปริมาณ 34.3 ล้านตันข้าวเปลือก ในปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 32.3 ล้านตัน ลดลงมา 5.6% อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ส่วนสต๊อกข้าวเป็นหน้าที่และข้อปฏิบัติตามกฎหมายของกรมการค้าภายในที่ต้องไปดู

“ถ้าพูดถึงสต๊อกในภาพรวมข้าวของโลกก็เบาใจ ว่า ณ เวลานี้ปีนี้ตัวเลขสต๊อกข้าวของโลกมากกว่าปีที่แล้วหนึ่งเท่า มั่นใจว่ามีกระสุนเพียงพอจะซัพพลาย ภาพรวมของโลกเป็นเรื่องที่ยังไม่น่าเป็นห่วง ต้องคอยดูว่าปีถัดไปที่เรากังวลว่าเอลนีโญจะมีความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน และปัญหาในแต่ละประเทศก็คงใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะโดนเยอะโดนน้อย และใครจะบริหารจัดการระบบชลประทานได้ดีกว่ากัน

เป็นสิ่งที่คิดว่าเราจะติดตามดู อยากเน้นย้ำว่าอย่าไปตระหนก ประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการห้ามส่งออก เพราะเราถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเป็นครัวของโลก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถบริหารจัดการได้ คาดส่งออกข้าวปีนี้ 8 ล้านตันตามเป้าหมาย สะท้อนว่าในประเทศก็ไม่มีปัญหาอะไร ปกติก็อยู่ประมาณนี้ แนวโน้ม ปี 2567 ต้องรอดูปริมาณน้ำฝนที่กำลังเข้ามามากแค่ไหน และเก็บได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องของความแม่นยำของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการคาดการณ์”

เอลนีโญต่อภาพรวมส่งออกไทย

นายกีรติอธิบายภาพใหญ่การส่งออกเดือนมิถุนายน 2566 ว่า อยู่ในระดับ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกขยายตัว 1-2% แม้ว่าหลาย ๆ ฝ่ายมองว่าอาจติดลบ ซึ่งเป้าหมาย 1-2% เป็นเป้าหมายการทำงานใส่เต็มที่ เกิน 100 วางกลยุทธ์ และเตรียมมาตรการร่วมกับภาคเอกชนผ่านคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ดำเนินงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยในเดือนสิงหาคมจะมีงานแสดงสินค้าที่จีน มีการจัดคณะเดินทางไปอินเดีย

“ภาพส่งออกติดลบสะสมตั้งแต่ปลายปีที่แล้วติด ๆ กัน เราไม่เถียงผลเป็นเรื่องจริง แต่อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า ปีที่แล้วฐานสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเบรกเรกคอร์ด เพราะอั้นจากโควิด มาปีนี้อยากให้มองเชิงมูลค่าส่งออกได้ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงมาก แต่ก็ต้องติดลบอยู่ดี เพราะฐานสูง

แต่หากถ้าเทียบกับประเทศอื่นเค้าติดลบสองหลัก แต่เราติดลบแค่หลักเดียว เราทำงานใกล้ชิดเอกชน เอกชนนำรัฐหนุน พยายามเต็มที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นช่วงรอการเปลี่ยนผ่านก็ไม่เกียร์ว่าง ถึงแม้จะไม่ถึงตามเป้านั้นก็ไม่เสียใจ เพราะว่าเป็นทั้งโลก ไม่ได้เป็นเราแค่คนเดียว ภูมิรัฐศาสตร์เป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้เลย เป็นเหมือนกันทั้งโลก เพียงแต่เราเองก็ยังพอไหวและไม่ได้แย่ไปกว่าคนอื่น”

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.prachachat.net/economy/news-1370616