ค้นหา

เอลนีโญแผลงฤทธิ์! นักวิชาการชี้โอกาสเกิดเต็ม 100% ลากยาวถึง ก.ค.67

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 292 ครั้ง

17 ส.ค.2566 – รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อัปเดตน้ำท่วมน้ำแล้ง (16 ส.ค. 66) เอลนีโญเต็ม 100%! ร้อนทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง ก.ค. 66 ร้อนที่สุดเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี!

เอลนีโญจะลากยาวถึง ก.ค. 67 โดยจะทำจุดสูงสุดช่วง ธ.ค.66 ส่วนฝนจะลดลงเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าในเดือนที่แล้ว เขื่อนหลักภาคเหนือและกลางลุ้นน้ำเข้าเขื่อนเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม

ช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ฝนจะน้อยกว่าปกติในภาคเหนือ กลาง ตะวันตก และใต้ตอนบน ขณะที่ใต้ตอนล่างฝนจะน้อยช่วง พ.ย.66-ก.พ.67

ทางองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า อากาศร้อนทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. 66 โดย ก.ค. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! อุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.12°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.8°C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกในเดือน ก.ค. สูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0°C!! (ภาพที่ 2) และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Ocean) ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.99°C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน (Land) ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.40°C

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) (ภาพที่ 3) รายงานว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญเต็ม 100%!! ค่ายสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะลากยาวถึงอย่างน้อย พ.ค. 67!! ด้วยความน่าจะเป็นเกิน 80% (ภาพซ้ายแท่งสีแดง) ขณะที่ค่ายยุโรปโดย System 5 จาก ECMWF คาดว่าเอลนีโญจะลากยาวถึง ก.ค. 67!! และงานวิจัยจาก CPC (NOAA) คาดว่ากำลังของเอลนีโญจะทำระดับสูงสุดช่วง ธ.ค. 66 ในระดับรุนแรง (>1.5 °C) ด้วยความน่าจะเป็น 66% (ภาพขวาแท่งสีแดงเข้ม)

ล่าสุด (15 ส.ค. 66) International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ภาพที่ 4) ได้พยากรณ์ว่าฤดูฝนปี 66 เอลนีโญแผลงฤทธิ์ช่วงพีค ทำให้ปริมาณฝนจะลดลงเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนที่ผ่านมา เขื่อนหลักภาคเหนือและภาคกลางลุ้นน้ำเข้าเขื่อนเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม โดยช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคเหนือ กลาง ตะวันตก และใต้ตอนบน พื้นที่สีส้มเข้มต้องระวังฝนน้อยเป็นพิเศษ ส่วนช่วง พ.ย.66-ก.พ.67 ภาคใต้ตอนล่างต้องระวังฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 22% ของความจุ เพิ่มขึ้นจาก 17% จากเดือนที่ผ่านมา เขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วงต่อเนื่อง (เขื่อนภูมิพล 14% เขื่อนสิริกิติ์ 15% เขื่อนสิรินธร 18% เขื่อนอุบลรัตน์ 12% เขื่อนศรีนครินทร์ 14% เขื่อนวชิราลงกรณ 28%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีจากการพยากรณ์ล่าสุดนี้ และภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนานถึง ก.ค. 67 ดังนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆ ต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ

เตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ อากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีตสโตรก หรือโรคลมแดดกันด้วยนะครับ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกันนะครับ เรามีน้ำเหลือน้อยมาก แต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนาน ขุดบ่อจิ๋วและสระสาธารณะใหม่เพิ่ม ขุดล่อคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและช่วยลดน้ำท่วมได้ อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มีและทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ ภาครัฐต้องคุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังให้ดีจากราคาข้าวที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจะปลูกข้าวกันมากขึ้น และการใช้น้ำในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น ทำให้วิกฤติขาดแคลนน้ำสาหัสมากยิ่งขึ้น#ClimateChange #Flood #Drought #NewNormal

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipost.net/general-news/432358/