ค้นหา

เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำจังหวัดบึงกาฬ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
เข้าชม 223 ครั้ง

เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำจังหวัดบึงกาฬ ปลุกพลังมวลชนบูรณาการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณฝนตกในพื้นที่เฉลี่ย 1,557 มิลลิเมตรต่อปี ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นภูเขาที่มีความสูงชัน โดยบริเวณเทือกเขาต่างๆ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะระหว่างภูเขา โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง ทำให้ในฤดูฝนน้ำ จะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่จังหวัด จึงจำเป็นต้องเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ในขณะที่ฤดูแล้ง จังหวัดบึงกาฬประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากพอสมควร จากการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปี มีค่ามากกว่าความต้องการใช้น้ำรวมทั้งปี โดยในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ ส่วนในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยมีค่ามากกว่าความต้องการใช้น้ำ แสดงให้เห็นว่า ควรมีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำให้มากขึ้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

สทนช. เริ่มดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และกลุ่มที่ปรึกษาเอกชน โดยดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัด และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จากผลการศึกษา ได้มีการคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 13 แห่ง ในทุกอำเภอ เพื่อทำโครงการเบื้องต้นเร่งด่วน ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและภาคการผลิตอย่างเพียงพอ

จากผลการศึกษา ได้มีการคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 13 แห่ง ในทุกอำเภอ เพื่อทำโครงการเบื้องต้นเร่งด่วนในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชน ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและภาคการผลิตอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง และเขตห้ามล่าสัตว์กุดทิง ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่รับน้ำจากในพื้นที่ ทั้งน้ำทิ้งจากครัวเรือน และการชะล้างสารเคมีทางการเกษตรจากหน้าดินลงสู่พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งน้ำทิ้งดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ (จอกหูหนูยักษ์) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการคุณภาพน้ำ โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติที่มีระบบการจัดการที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ อย่างโครงการจัดทำและบริหารจัดการป่าบุ่ง ป่าทามประดิษฐ์ระดับชุมชนแบบบูรณาการบนพื้นฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นที่บริเวณห้วยน้ำคำไหลออกสู่กุดทิง เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องในพื้นที่ต่อไป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/2646846/