ค้นหา

ตะไคร้พารวย 150 ไร่ รายได้เดือนหลักล้าน เคล็ดลับปลูกแสนง่าย

พยนต์ มูลเกิด
เข้าชม 518 ครั้ง

คุยกับเจ้าของสวนตะไคร้ พารวย จากอาชีพวิศวะ หันมาปลูกตะไคร้ รายได้ดี เดือนหนึ่งหลักล้าน พร้อม 4 ขั้นตอน เคล็ดลับปลูกแสนง่าย… คนเรามีทางเลือกเสมอ… การเปลี่ยนอาชีพ ก็คือหนทางในการเลือกเส้นทางชีวิต เฉกเช่นเดียวกับ “ป๊อป พยนต์ มูลเกิด” เจ้าของสวนกายกานต์ ต.ไผ่ต่ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี ที่เลือกมาปลูก “ตะไคร้” ที่มีรายได้หลักล้าน!! ต่อเดือน เรียกว่า ตะไคร้พารวย ก็หาใช่ผิด ซึ่งวันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาถอดสูตรความสำเร็จในการปลูกพืชสมุนไพรชนิดนี้ ที่นอกจากรับประทานได้แล้ว ยังเอาไปใช้สารพัดประโยชน์ ซึ่งเวลานี้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่ง 

จากหนุ่มวิศวะ กลับสู่เส้นทางเกษตร… 

ป๊อป พยนต์ เล่าว่า ส่วนตัว ได้เรียนจบคณะวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ คมนาคม ซึ่งก็ไปทำงานกรุงเทพ ในสายวิศวกรรม 11 ปี  แต่ใจอยากจะกลับบ้าน คือ จ.ปทุมธานี (ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ) แต่ก็อยากอยู่ที่บ้าน คำถามในตอนนั้น คือ กลับมาแล้วจะทำอะไร… 

เมื่อหันกลับมามองที่บ้าน เคยทำนา เป็นชาวนา และชาวสวน ปลูกสวนส้ม (ทุ่งรังสิต) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ราคาข้าวตกต่ำ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ขณะที่สวนส้ม ก็เจอปัญหาโรคระบาด มีแมลงรบกวน ทำให้ผลผลิตที่ได้ รับความเสียหายมาโดยตลอด จนทำให้ที่บ้านเลิกกิจการไป 

“ด้วยที่เป็นครอบครัวเกษตรกร จึงพอรู้ด้านเกษตรอยู่บ้าง จึงพยายามมองหาพืชที่เหมาะสมกับตัวเอง และก็ไปเจอ “ตะไคร้” เพราะเป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกง่าย ลงทุนน้อย ก็เลยเริ่มทดลองปลูก ผลปรากฏว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” ตั้งแต่ครั้งแรก โดยได้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขนาดเล็ก แต่ก่อนที่เราจะลงมือปลูก เราก็มีการศึกษาลู่ทางไว้ก่อน ว่าจะขายใครได้บ้าง แต่เมื่อปลูกจริง ได้ผลผลิตไม่ค่อยดี จึงขายไม่ได้ราคา” 

ขั้นตอนปลูก “ตะไคร้” ให้ได้คุณภาพ..

เกษตรกรเงินล้าน เผยว่า แม้เราจะมองตลาดไว้ พอมีลู่ทางในการขาย คือ คนกลาง ตลาด โรงงานต่าง ๆ หรือ การแปรรูปในการส่งออก เช่นเอาไปอาหาร ทำน้ำตะไคร้ หรือใช้ในงานนวดสปา และเวลานั้น คือ คนที่ปลูกตะไคร้ก็มีไม่มาก จึงมองเห็นลู่ทางการเจริญเติบโตได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนเสียทีเดียว สาเหตุเพราะ “องค์ความรู้” ที่มีไม่มากพอ

เราเริ่มต้นด้วยที่ดินตัวเอง จำนวน 5 ไร่ ลงทุนไร่ละ ไม่เกิน 5,000 บาท แต่การเริ่มต้นนั้น คือ “การลองผิดลองถูก” จนรู้ว่า รอบการปลูกตะไคร้ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวได้ ผลลัพธ์ที่เจอในครั้งแรกๆ  นั้นได้ ผลผลิตไม่สวยงามนัก ต้นไม่ใหญ่ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 

เมื่อเจอแบบนี้ ป๊อป พยนต์ บอกว่าเราต้องเริ่มต้นใหม่ ด้วยการหาความรู้ และเคล็ดลับจากเกษตรกรใหม่ เพื่อจะได้ปลูกตะไคร้ให้ได้ผลงาน ซึ่งความรู้ที่ได้คือ…

ขั้นตอนแรก เวลาปลูกตะไคร้ใหม่ๆ ให้ใช้ปุ๋ยสูตรยูเรีย 46-0-0 

ขั้นตอนที่สอง เมื่อปลูกได้สัก 2 เดือน จากนั้นก็ให้กำจัดวัชพืชก่อน จากนั้นก็ใส่ปุ๋ย 16-16-16

ขั้นตอนที่สาม เมื่อปลูกได้ 4 เดือน ก็ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมออีกครั้ง  

ขั้นตอนที่สี่ ไม่ต้องทำอะไร สิ่งที่ทำคือ “รอเก็บเกี่ยว” 

ส่วนวิธีการปลูกนั้น ธรรมชาติของ “ตะไคร้” ชอบน้ำ แต่ไม่ถึงขั้นแฉะ หรือ น้ำขัง ฉะนั้น การให้น้ำจึงใช้วิธีการทำร่องน้ำ และใช้เรือรดน้ำ สัปดาห์หนึ่งให้น้ำ 2-3 ครั้งเท่านั้น 

ส่วนเรื่องของ “ดิน” ก่อนปลูกเราจะทำการขุดหลุมเสียก่อน และหากปลูก 1 รอบไปแล้ว ก็จะไถพรวนดินให้ร่วน  

“เมื่อทำแบบนี้ เราก็พบว่า ตะไคร้เราต้นใหญ่ขึ้น แต่ก็เจออุปสรรคต่อไป คือ เรายังขายได้ยาก เพราะ เราคือผู้ปลูกตะไคร้หน้าใหม่ ตลาดที่เคยซื้อขายกัน เขาจะซื้อกับเจ้าประจำ เราจึงทำได้เพียงขายให้กับคนรับซื้อคนกลาง ได้กิโลกรัมละ 5-10 บาท เท่านั้น ซึ่งถือเป็นกลไกตลาดปกติ ที่สามารถขายได้ราคานี้จากหน้าสวน” 

เดินสายขายโรงงาน ยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน GAP 

นายพยนต์ ยอมรับว่า การได้มาตรฐานสินค้า หรือการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP : Good Agriculture Practices) มีผลกับการขายของเรามาก ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร คือ เราก็ไปติดต่อกับเกษตรอำเภอ โดยก่อนที่เราจะไปทำ เราก็ต้องมีมาตรฐานที่ดีเสียก่อน 

ป๊อปยอมรับว่า ช่วงแรกอาจมีการใช้สารเคมีบ้าง แต่เมื่อต้องการยกระดับมาตรฐานผลผลิต ทำให้เราเลิกยุ่งกับสารเคมีไปเลย ทั้งที่ความเป็นจริง การขอใบอนุญาตเหล่านี้เขาไม่ได้ห้ามการใช้สารเคมี เพียงแต่ ต้องทำการบันทึก เนื่องจากมีการ “ตรวจสอบย้อนกลับ” ที่สำคัญ สาเหตุที่เราไม่ใช้เลยเพราะ “ตะไคร้” มันมีคุณสมบัติในการไล่แมลง และศัตรูพืชไม่ค่อยมี อยู่แล้ว 

“ฉะนั้น ใบนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ จำเป็นต้องได้เลขทะเบียนที่ผ่านการรับรอง เพราะต้องผ่านหน่วยงานของรัฐด้วย เมื่อเราได้ตรารับรองมา เราจึงขยายกิจการ” 

นายพยนต์ เผยว่า เมื่อเริ่มเห็นช่องทางการตลาด ก็ประเมินว่า 5 ไร่ อาจจะไม่พอขาย จึงตัดสินใจขยายเป็น 100 ไร่ ด้วยการ “เช่า” ที่ดินเพิ่มเป็น 100 ไร่ เพื่อที่จะปลูกและหาลูกค้ามากขึ้น จากโรงงาน 1 ราย เป็น 10 ราย จากกลุ่มผู้ผลิต เราก็ไปหากลุ่มโรงงานน้ำตะไคร้ โรงงานพริกแกง ที่เขาใช้ต่อสัปดาห์มากๆ 

“ลูกค้าใหญ่ คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ต่อเดือน สามารถขายได้ประมาณ 30-50 ตัน ส่วนสาเหตุที่เลือกจะเช่าที่เพื่อปลูกนั้น เพราะเราปลูกพืชในลักษณะเชิงอุตสาหกรรม คล้ายกับการปลูกพืช “เชิงเดี่ยว” ฉะนั้น เมื่อเราปลูกได้สัก 5 ปี เราก็เลือกที่จะเปลี่ยนพื้นที่เช่า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการปลูกพืช ไม่ว่าเราจะปลูกชนิดใดก็ตาม หากปลูกนานๆ แร่ธาตุในดินที่ใช้มันจะเหลือน้อย ดังนั้น การเช่า จึงเป็นอะไรที่คุ้มค่ากว่า และแปลงปัจจุบันที่ปลูกนั้น เราใช้พื้นที่ดังกล่าวมา 4 ปีแล้ว”

รายได้หลักล้านต่อเดือน 

สำหรับการปลูกตะไคร้ขายในจำนวน 150 ไร่ จะมีรายได้ประมาณหลักล้านบาทต่อเดือน โดย นายพยนต์ ยอมรับว่า บางเดือนก็ถึงล้าน บางเดือนก็ไม่ถึง แล้วแต่ช่วงฤดูกาล  บางปีเจอปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ น้ำมาก น้ำแล้ง บางทีมันส่งผลกระทบต่อต้นทุน หรือบางฤดูกาลมีผลผลิตทั้งประเทศ ออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน จะมีตะไคร้จากทางภาคอีสานมาเยอะ ส่งผลให้ราคาโดยรวมมันตกต่ำลง 

“ตลาดใหญ่ที่สุด สำหรับคนที่ปลูกตะไคร้ จะอยู่ที่ จ.ปทุมธานี นครปฐม ส่วนตลาดรองที่เริ่มปลูกมากขึ้น ก็คือ ที่ กาญจนบุรี ราชบุรี ขณะที่ไร่ของผมเวลานี้อยู่ที่ สระบุรี” 

สำหรับตลาดต่างประเทศ ส่วนมาก  “ตะไคร้สด” จะมุ่งเป้าไปที่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เรียกว่าประเทศไหนมีร้านอาหารไทยเยอะ ก็จะใช้ตะไคร้เยอะตาม ลูกค้าที่ซื้อกับตน ส่วนมากจะส่งไปที่ สวิสตเซอร์แลนด์ รัสเซีย เป็นต้น ส่วนตลาดใหม่ๆ ก็ คือ จีน เนื่องจากคนจีนชอบนำตะไคร้ไปเสียบกับหมู หรือ หมักกับเนื้อสัตว์ มาทำอาหาร…คล้ายกับการทำบาร์บีคิว

เกษตรกรรวยได้  ต้องหาองค์ความรู้ ยกระดับมาตรฐานสินค้าปลอดภัย 

ในช่วงท้าย นายพยนต์ ยอมรับว่า อาชีพเกษตรกรก็สามารถรวยได้ ใครที่คิดจะเริ่มทำ ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้ดี และเตรียมใจที่จะล้มเหลวบ้าง เพราะการลงทุนปลูกพืชอะไรก็แล้วแต่ มันย่อมเจ็บก่อน ส่วนสำคัญ คือ เราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่เราจะทำนั้น คือ “ขายให้กับใคร” ศึกษาตลาดให้ดี การเดินหน้าทำมาตรฐาน ให้ได้ใบรับรองคุณภาพ ซึ่งในมุมมองของตน เป็นลักษณะสินค้าเชิงอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ปลูกพืชต้องมีความปลอดภัยกับธรรมชาติ และคนกิน คนใช้ เพราะที่สุดแล้วพืชต้องมีความปลอดภัยกับทุกคน  

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2720105