ค้นหา

เส้นทางสู่การพลิกโฉมระบบอาหาร “อิ่มและดี” ที่ยั่งยืนของประเทศไทย

เข้าชม 424 ครั้ง

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก กิจกรรม Press interview “เส้นทางสู่การพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

“อาหาร” นอกจากจะเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ยังมีบทบาททางวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมอีกด้วย หากประเทศมีระบบอาหารที่ดีและยั่งยืน ประชาชนก็จะเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างเท่าเทียม

                    จากสถานการณ์การเข้าถึงอาหารของคนไทยในปัจจุบัน ยังถือว่าไม่เพียงพอตามเกณฑ์ที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำ อาทิ การกินผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัม/วัน มีเพียงแค่ 37% ของประชากรทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ความน้อยในการบริโภคผักผลไม้ขึ้นอยู่กับประชากรแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเปราะบาง เด็ก และชุมชนเขตเมือง

                    เปิดข้อมูลที่น่าสนใจจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ระบุว่า สถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ และกว่า 2 พันล้านคน ประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค ที่ไม่เหมาะสม

ส่งผลให้เกิดน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน กระทบต่อสุขภาพที่ส่งผลต่อรายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ ถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมระบบความมั่นคงทางอาหาร

                    จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นการพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกปี 2564 ไทยประกาศร่วมมือการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) สนับสนุนประเทศสมาชิกขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ทั้งวิธีการผลิต การกระจาย และการบริโภค ภายใต้แนวคิด “อิ่มและดี 2030” ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

                    เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยประสานงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 40 หน่วยงาน สานพลังความร่วมมือจัดกิจกรรม Press interview เพื่อตอบรับและสื่อสาร Food and Agriculture Systems Stocktaking “เส้นทางสู่การพลิกโฉมระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนในอนาคต

                    การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เท่ากับเป็นการทบทวนความก้าวหน้า และแชร์ประสบการณ์ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก ในวันที่ 24–26 กรกฎาคม 2566 ณ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม อิตาลี ” นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความสำคัญในการจัดงาน

                    สำหรับเส้นทางสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “อิ่มและดี 2030” 5 ด้าน ประกอบด้วย  1. “อิ่ม ดี ถ้วนหน้า” เข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 2. “อิ่ม ดี มีสุข” ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3. “อิ่ม ดี รักษ์โลก” ส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. “อิ่ม ดี ทั่วถึง” ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาค เท่าเทียม 5. “อิ่ม ดี ทุกเมื่อ” ด้วยการสร้างระบบที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤติ

                    ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ระบบอาหารหรือโภชนาการในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่อาจไม่ดีที่สุดในโลก สสส. เองยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนส่งเสริมการบริโภคอาหารตลอดห่วงโซ่ ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ

  1. ส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้และบูรณาการความร่วมมือหนุนเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
  2. ส่งเสริมระบบตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน/ชุมชน
  3. ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สื่อสารรณรงค์สังคมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

                    โมเดลต้นแบบระบบอาหารชุมชนได้เน้นความสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างก้าวกระโดด ด้วยการสร้างความรอบรู้การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ พัฒนาทักษะ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ส่งผลสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะ สร้างกระบวนการเรียนรู้ การสื่อสารที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับสากล” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม

                    ท้ายที่สุด การพลิกโฉมระบบอาหารสู่ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากทุกฝ่ายช่วยกัน อาหารเปรียบเหมือนสมบัติส่วนร่วม ที่ทุกคนต้องดูแลและปกป้อง นอกจากช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นรากฐานความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

                    สสส. และภาคีเครือข่ายเน้นความสำคัญกับระบบอาหารเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการสนับสนุนพัฒนาการผลิตตามแนววิถีชุมชน ให้มีความมั่นคงทางอาหาร สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%89%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0/