จากป่าพรุที่เต็มไปด้วยดินเปรี้ยวไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้ในอดีต จนวันนี้กลายเป็นนิคมสหกรณ์ต้นแบบของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่ผ่านการขับเคลื่อนโดยสหกรณ์นิคมสหกรณ์ จำกัด สำหรับ”นิคมสหกรณ์ปิเหล็ง” สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลังมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในปี 2518 ครอบคลุมพื้นทีใน 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วยตากใบ ระแงะ สุไหงปาดีและอำเภอสุไหงโกลก แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินของรัฐอื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำบางนรา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าและป่าพรุ ส่งผลให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ปิเหล็งที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินไม่สามารถนำเอกสารสิทธิ์ (หนังสือแสดงการทำประโยชน์) ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
ต่อมาได้มีการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใหม่ ในปี2533 โดยกำหนดพื้นที่หมู่บ้านตัวอย่างบ้านปิเหล็งและบริเวณใกล้เคียงเป็นแนวเขตนิคมสหกรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 31,413 ไร่เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับสมาชิกนิคมสหกรณ์จำนวน 1,350 ครัวเรือน ๆ ละไม่เกิน 50 ไร่ พร้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายคือยกระดับการพัฒนาสู่การเป็นนิคมสหกรณ์ต้นแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การจัดตั้งนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง เมื่อปี 2518 เป็นต้นมา นิคมสหกรณ์แห่งนี้ ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของนิคมฯ เรื่อยมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกินได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่พรุได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ประสบผลสำเร็จในการทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุ
จากผลการศึกษาพบว่า การปลูกพืชในพื้นที่พรุ ปาล์มน้ำมันมีศักยภาพสูงกว่าพืชชนิดอื่นทั้งในด้านกายภาพ นิเวศวิทยา ตลอดจนความเหมาะสมในเรื่องของการตลาด อุตสาหกรรม และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
และเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรแปลงปลูกปาล์มน้ำมันในเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะ และได้มีพระราชดำริแก่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สรุปความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการทดลองจนเป็นผลสำเร็จแล้ว ก็สมควรขยายผลส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมของสมาชิกสหกรณ์เพื่อเป็นอาชีพต่อไป”
จากนั้นในปี 2542 กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ทำการปลูกปาล์มน้ำมันให้มากขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ ก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน คลองระบายน้ำ ท่อลอด ประตูระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี พร้อมปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรให้มีตลาดที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม
ปัจจุบันนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 13,119 ไร่ สมาชิก 760 ราย และการปลูกปาล์มน้ำมันได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร และมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่จัดตั้งเป็นสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด ขึ้น เพื่อช่วยเหลือดูแลเกษตรกร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ฯลฯ โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาสคอยให้คำปรึกษา แนะนำและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการสมาชิก 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อธุรกิจรวบรวมผลผลิต และธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย
จากรายงานผลดำเนินงานธุรกิจสหกรณ์นิคมปิเหล็ง ปีล่าสุด(ปี2565) ปรากฎว่ามีผลประกอบการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 83,691,951.30 บาท แยกเป็น ธุรกิจสินเชื่อ 1.430 ล้านบาท ธุรกิจรับเงินฝาก 4.064 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมผลผลิต 69.131 ล้านบาทและธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 9.065 ล้านบาท โดยมีอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แก่ อาคารสำนักงาน 1 หลัง ฉาง (อาคารเก็บสินค้า) 1 หลัง ลานเท 1 แห่ง เครื่องชั่ง ขนาด 40 ตัน 1 แห่ง รถบรรทุก 10 ล้อ 1 คันรถไถ 1 คัน เครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย 30 เครื่องและเครื่องตัดหญ้าเดินตาม 5 เครื่อง
นางสาวโสภิดา ศรัทธารัตน์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด ว่ารูปแบบไม่ต่างจาก สหกรณ์การเกษตรทั่วไปเพียงแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ ซึ่งใช้กฎหมายคนละฉบับ สำหรับนิคมสหกรณ์นั้นจะใช้กฎหมายว่าการจัดการที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดไว้ว่าตัวสหกรณ์จะได้รับการจัดสรรที่ดินมาส่วนหนึ่งแล้วให้นิคมฯจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีที่ดินทำกินมาใช้ประโยชน์ที่ดินในนิคมฯ
“จุดเด่นของปิเหล็งอันแรกตัวสมาชิกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แล้วก็อาชีพเหมือกัน ทำให้การจัดการได้ง่าย สองนิคมสหกรณ์มีข้อกฎหมายที่สำคัญอยู่ตัวหนึ่ง ถ้าคุณมีที่ดินในนิคมคุณจะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ ดังนั้นเวลาจัดการให้เขาทำงานร่วมกันในเรื่องของการรวมกลุ่ม จึงทำได้ง่ายกว่าเพราะว่าต้องทำตามเงื่อนไขที่เรากำหมด”
สหกรณ์จังหวัดนราธิวาสยังกล่าวถึงอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์นิคมปิเหล็ง โดยระบุว่านอกจากอาชีพหลักทำสวนปาล์มน้ำมันแล้วยังมีอาชีพอื่นอีกหลายหลากที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับสมาชิก ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ อาทิ กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มปลูกผัก เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา แนะนำและคอยให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ
นายสะมะแอน ยุวหวิลย์ สมาชิกเกษตรกรตัวอย่างกลุ่มเลี้ยงโคของสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด เผยว่าได้กู้เงินสหกรณ์จำนวน 2 แสนบาทในการนำไปลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำคอก ปลูกหญ้าและจัดซื้อแม่พันธุ์โคจำนวน 6 ตัว จากนั้นมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์มาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพของโค โดยช่วงแรกเน้นจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่เมื่อมีการวิเคราะห์ตลาดที่ให้ผลกำไรมากกว่า พบว่าการปรับเปลี่ยนการจำหน่าย เช่น เปลี่ยนจากการเลี้ยงโคแบบขุน เป็นการจำหน่ายลูกโคแทน พร้อมคิดหาช่องทางใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง อย่างเช่นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมูลโค โดยการทำมูลโคอัดเม็ด 100% ปัจจุบันสะมะแอนมีโคจำนวนทั้งสิ้น 38 ตัว ลูกโค 13 ตัว มีรายได้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อปี
ขณะที่ นายสมพงศ์ จินดาราม สมาชิกเกษตรกรตัวอย่างอีกรายหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพเสริมด้วยการทำเกษตรผสมผสาน หลังได้รับการช่วยเหลือจากสหกรณ์จากการฝึกอบรม ศึกษาดูงานการเกษตรผสมผสานและสร้างโอกาสทางการตลาดและช่องทางการจำหน่าย ก่อนกลับมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง ประกอบด้วย ฝรั่งกิมจู 100 ต้น มะพร้าวน้ำหอม 100 ต้น ขนุน 10 ต้น จำปาดะ 10 ต้น กระท้อน 4 ต้น มะม่วง (เขียวเสวย,ฟ้าลั่น) 10 ต้น นอกจากนี้มีการ เลี้ยง ผึ้งชันโรง 2 รัง (ไว้ผสมเกสร)เลี้ยงปลาดุก,ปลานิล ในร่องน้ำไว้บริโภค ทุกวันนี้มีการเก็บผลผลิตทุกสัปดาห์ ส่งขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อหน้าสวน และจำหน่ายให้หน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ โดยรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเฉลี่ย 6,000 – 7,000 บาท ต่อเดือน
การเสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่ม นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของสหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัดและนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์