“เอลนีโญ” ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ประเทศไทยอาจต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งนาน 2 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรมและการประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ปัจจุบันแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือมากกว่า 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด
ขณะที่แหล่งน้ำโดยเฉพาะ “น้ำบาดาล” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณเกินสมดุล
ประกอบกับปริมาณการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลตามธรรมชาติลดลง เป็นผลมาจากระบบนิเวศป่าไม้ที่จะช่วยชะลอการไหลของน้ำเพื่อให้เกิดการซึมลงใต้ดินนั้นลดลง จึงส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ระดับน้ำบาดาลลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม จึงหาแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลด้วยการ “เติมน้ำใต้ดิน” โดยเริ่มศึกษาทดลองการเติมน้ำใต้ดินในหลาย รูปแบบทั้งระดับลึกและระดับตื้น
ในปี 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มขยายผลและขับเคลื่อนภารกิจเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจ ผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้ และก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เป็นต้นแบบ 1 ตำบล 1 แห่ง
นำร่องโดยก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเป็นกลุ่มบ่อ ปัจจุบัน (2563-2566) มีระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นรวมทั้งสิ้น 3,010 แห่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการลดระดับของน้ำใต้ดิน ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม
การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เป็นการนำน้ำที่มีมากเกินความจำเป็นในช่วงน้ำท่วมหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นจะช่วยระบายน้ำท่วมขังในชุมชน ช่วยธรรมชาติฟื้นฟูระดับน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ที่สำคัญรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่เหมาะสม จะเพิ่มความ คุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี เลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
1.ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต
เป็นการรวบรวมน้ำที่ท่วมหลากในช่วงฤดูฝน หรือน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินอื่นๆ เพื่อเติมลงสู่บ่อวงคอนกรีตที่เป็นบ่อเติมน้ำ โดยให้ผ่านการกรอง จากระบบกรองกรวดทราย เพื่อลดการเกิดการอุดตันภายในบ่อเติมน้ำใต้ดิน
2.ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านสระ
เป็นวิธีการเติมน้ำโดยการขุดสระให้ลึกถึงชั้นทรายแห้ง เพื่อเพิ่มอัตราการซึมของน้ำ สระจะทำหน้าที่เหมือนแก้มลิงช่วยกักเก็บและชะลอน้ำให้มีเวลาซึมผ่านลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ซึ่งน้ำที่เติมผ่านระบบสระจะลงไปกักเก็บไว้ในชั้นน้ำใต้ดินเปรียบเสมือนแก้มลิงใต้ดินเช่นกัน
ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นด้วยระบบหลังคาน้ำฝนผ่านบ่อวงคอนกรีต
3.ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นด้วยระบบหลังคาน้ำฝนผ่านบ่อวงคอนกรีต เป็นการรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาบ้านเรือนและอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยการต่อท่อรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาลงสู่บ่อวงคอนกรีตที่เป็นบ่อเติมน้ำ
ปัจจุบันพื้นที่ที่มีการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นจำนวนมากจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน หรือพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนบน และแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสูบใช้น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปรังช่วงฤดูแล้ง ในปริมาณมากเกินสมดุล และพึ่งพาแหล่งน้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่
จึงก่อให้เกิดปัญหาการลดระดับน้ำบาดาลอย่างรวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ระดับน้ำบาดาลลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 15 เมตร ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟูก็จะสูญเสียชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นไปอย่างถาวร
จากปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของระดับน้ำบาดาลระดับตื้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงขาดแคลนน้ำ
ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังจัดทำเอกสารเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดิน และชุดแผนที่ความเหมาะสมในการ เติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย แจกจ่ายไปยังท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับทราบและเป็นแนวปฏิบัติในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน
รวมถึงการเผยแพร่ขยายผลแนวทางการเติมน้ำใต้ดินตามหลักวิชาการ และจะเป็นอีกวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมขัง เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศที่พึ่งพาน้ำบาดาล
ระบบเติติิมน้ ้ำใต้ต้้ดิดิินระดัดัับตื้้� นผ่ผ่่านสระ
แม้ว่าการเติมน้ำใต้ดินจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องคำนึงเสมอว่าน้ำที่ใช้เติมต้องสะอาด ไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อน วัสดุที่ใช้ต้องเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่นำขยะมูลฝอยมาถมไว้ในบ่อเติมน้ำโดยเด็ดขาด สู่การบริหารจัดการและฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติมน้ำใต้ดิน สามารถติดต่อได้ที่สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากร น้ำบาดาล โทร.0-2666-7293