18 สิงหาคม 2566
292
คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมีจุดมุ่งหมายให้เครือข่ายเกษตรกรได้รับความรู้ต่อยอดเกษตรสมัยใหม่ ตลอดจนปรับตัวเพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้สอดคล้องกับความนิยมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยการขยายตลาดใหม่ๆ นอกจากตลาดเดิมด้วย ปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น รักบ้านเกิด จึงได้จัดงานสัมมนานี้เพื่อเป็นโอกาสให้เกษตรกรสามารถพัฒนาแนวคิดและประสบการณ์ในการทำธุรกิจเกษตรอย่างอัจฉริยะ ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าให้กับผลผลิต รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร และพัฒนาความมั่นคง ความยั่งยืนของชุมชน สังคมในระยะยาว
ทั้งนี้บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ร่วมกับมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Entrepreneur)” เน้นส่งเสริมการปรับตัวการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างความยั่งยืนในการผลิตผู้ประกอบการภาคเกษตร เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมในระยะยาว
งานสัมมนาฯ คุณอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และ คุณธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานในแต่ละจังหวัด โดยหัวข้อการให้ความรู้สำหรับแนวคิดผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ ประจำปี 2566
สท. แนะ เกษตรกรใช้ AI เข้าถึง Big Data กำหนดทิศทางอนาคต
คุณกัลยารัตน์ รัตนะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า เทรนด์เทคโนโลยีการเกษตรปีนี้ เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างกว้างขวาง จากเทคโนโลยีดาวเทียมที่ช่วยในการตรวจสอบและบริหารจัดการที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารจัดการแปลงปลูกที่ถูกต้องและคุ้มค่า ด้วยความสามารถของ IoT และเทคโนโลยี Variable Rate Technology (VRT) ในการปรับใช้ทรัพยากรตามความต้องการของพืชได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้การใช้ปุ๋ยและสารเคมีลดลง ซึ่งสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าเดิม
คุณธีรพัชส ประสานสารกิจ นักวิชาการอาวุโส สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนก็เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการเกษตร ทำหน้าที่ปฏิบัติงานที่ต้องการความแม่นยำและเร็วกว่ามนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิต วิเคราะห์สภาพแปลงปลูก หรือการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data & Analytics) ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถติดตามและปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อดำเนินการในทิศทางที่ดีที่สุด
EXIM BANK พร้อมส่งเสริม ส่งออกสินค้าเกษตร ย้ำเข้าใจกฏหมายการส่งออก
คุณศศิธร มาเมือง และคุณวิรัตน์ พุทธิวงศาสุนทร วิทยากรจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า EXIM BANK ให้ความเห็นว่า เกษตรกรที่สนใจส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าที่ผลิตเอง หรือสินค้าจากเครือข่ายเกษตร สินค้านั้นต้องมีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาดเป้าหมาย นอกจากนี้ต้องทำความเข้าใจกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศปลายทาง เช่น การสำรวจกฎหมายการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการบรรจุหีบห่อ และมาตรฐานสินค้าต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกคือการศึกษาและการปฏิบัติตามข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของกระบวนการส่งออก เพื่อให้แน่ใจว่าการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายของประเทศปลายทาง
มจธ. ชี้การสร้างแบรนด์ แพ็กเกจจิง ส่งเสริมเพิ่มยอดขาย
ผศ.ดร.นิทัศน์ ทิพยโสตนัยนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การออกแบบแพ็กเกจจิงนั้นเปรียบเสมือนการสร้างตัวตนและเสน่ห์ของสินค้าหรือบริการ แพ็กเกจจิงต้องสามารถพูดคุยกับผู้บริโภค สื่อความหมายของแบรนด์ และสื่อสารคุณค่าของสินค้านั้นๆ
“การสร้างแพ็กเกจจิง (Packaging) ที่ทันสมัยและอัจฉริยะนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความน่าสนใจและเป็นผู้นำในตลาด เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการที่เน้นความสะดวกสบายและประหยัดเวลา” ผศ.ดร.นิทัศน์ กล่าว
เปิดประสบการณ์ความสำเร็จ 2 เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล เกษตรกรหญิงเก่ง จาก “Aromatic Farm” สถาบันการเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ กล่าวว่า การเดินหน้าตามความฝันในการเริ่มต้นธุรกิจเกษตรของตัวเอง โดยเลือกทำธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบ จึงเป็นที่มาของธุรกิจ Aromatic Farm ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. Aromatic Farm Coconut ธุรกิจที่ขายมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว ซึ่งธุรกิจนี้ช่วยสร้างกำไร และการอยู่รอดทางธุรกิจ
2. Aromatic Farm Academy ธุรกิจที่เน้นการสอนและการฝึกอบรม เพื่อสร้างบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นคนดี การลงทุนในการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับความยั่งยืนของธุรกิจ
3. Aromatic Farm BCG ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะมาสร้างมูลค่า สร้างเงิน สร้างรายได้
ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืน Aromatic Farm ได้รับรางวัลที่แสดงถึงความพยายามและความสำเร็จมากมาย อันได้แก่รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด รางวัลระดับจังหวัด รางวัลระดับประเทศ และรางวัลระดับโลก ที่เป็นผลมาจากความพยายามและการมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชนและโลกของเรา
คุณอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรรุ่นใหม่จาก “อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด” ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเต็มรูปแบบ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด เน้นการเรียนรู้ด้านการเกษตร พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และมีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
“การบริหารจัดการธุรกิจ เรามองศูนย์การเรียนรู้ของเราเป็นอีกหนึ่งบริษัท ซึ่งในบริษัท มีการแบ่งหน้าที่ แบ่งความรับผิดชอบในกระบวนการทำงานอย่างชัดเจน จึงจะประสบความสำเร็จ เกษตรไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เกษตรคือชีวิตของเรา ชีวิตที่ไม่สามารถลาออกจากสิ่งที่เราทำได้ เพราะฉะนั้นเราจะอยู่กับชีวิตของเราอย่างไรให้มีค่าและเหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดแค่เรามีความสุขในจุดที่เรายืน” คุณอดุลย์ กล่าว