กรมวิชาการเกษตร จับมือศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรนานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น พัฒนา “กวก. ขอนแก่น 4” พันธุ์อ้อยเป็นพลังงานพันธุ์แรกในไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทราย กากน้ำตาล และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอล รวมทั้งชานอ้อยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาลและผลิตพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานโดยตรงเนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาพันธุ์อ้อยเน้นอ้อยที่มีความหวานสูง
ดังนั้นศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตรร่วมกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรนานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีผลผลิต ผลผลิตชานอ้อย ผลผลิตกากน้ำตาล ผลผลิตแก๊สชีวภาพ และพลังงานไฟฟ้าและเป็นพืชพลังงานชีวภาพหรือพลังงานทางเลือกของโรงไฟฟ้าชุมชน
จากการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์อ้อยตั้งแต่ปี 2540 -2565 ทำให้ได้อ้อยพันธุ์ใหม่ใช้ชื่อพันธุ์ว่า ”กวก. ขอนแก่น 4”เป็นลูกผสมข้ามชนิดระหว่างอ้อยและอ้อยป่า (Saccharum spotaneum)เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างอ้อยพันธุ์แม่ 94-2-128 ที่มีผลผลิตและความหวานสูง และอ้อยพันธุ์พ่อ 03-4-331 ที่มีผลผลิตสูง และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้กว้างประเมินผลผลิตในการเปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร และการทดสอบในไร่เกษตรกร
ในปี 2553-2564 ทดสอบและศึกษาศักยภาพการผลิตพลังงานชีวภาพในปี 2555-2557 ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ทรงกอค่อนข้างตั้งตรง ปล้องเรียงตัวค่อนข้างตรง ปล้องทรงกระบอก ใบกว้างปานกลางและไม่มีขนที่กาบใบ ลักษณะเด่นให้ผลผลิตอ้อย 11.71 ตันต่อไร่ ให้ผลผลิตชานอ้อยเฉลี่ย 1.96 ตันต่อไร่ มีปริมาณเยื่อใยเฉลี่ยร้อยละ 17.12 ให้ผลผลิตกากน้ำตาล 523 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งลักษณะเด่นดังกล่าวสูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 และ K88-92 ที่สำคัญยังให้พลังงานไฟฟ้า 596 กิโลวัตต์ต่อไร่ และพลังงานแก๊สชีวภาพ 496 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 ผ่านการรับรองพันธุ์ประเภทพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566
ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ได้ขยายอ้อยโคลนพันธุ์ กวก.ขอนแก่น 4 พื้นที่จำนวน 2 ไร่ ซึ่งสามารถปลูกขยายได้ 15 ไร่โดยเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกอ้อยพันธุ์ กวก.ขอนแก่น 4 (อ้อยปลูกอ้อยตอ 1 และอ้อยตอ 2)เป็นเงินจำนวน 44,164 บาท/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 และ K88-92 ดังนั้นจึงเป็นพืชทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นกรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-4320-3506 และ 0-4320-3508” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว