สมาคมการผังเมืองไทย-กฎบัตรไทย ผนึกองค์กรเอกชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เตรียมชงคณะรัฐมนตรี เสนอตั้งเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมมูลค่าสูงนครสวรรค์ แห่งที่ 2 บนพื้นที่ 8,000 ไร่ ที่อำเภอไพศาลี มุ่งส่งเสริม-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนและชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเขียว เผยมีบริษัทเอกชนเตรียมงบฯลงทุน 4 หมื่นล้าน ต่อเนื่องภายใน 5 ปี
นายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทยและนายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กฎบัตรไทยร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เตรียมยื่นเอกสารเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเพิ่มเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในพื้นที่อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่รวมประมาณ 8,000 ไร่
เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเอกชนโดยพื้นที่ของเขตนวัตกรรมนี้ จะประกอบไปด้วย 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนและชีวภาพ สาขาการแปรรูปของเหลือใช้จากการเกษตร ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ความงามและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง 2.กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเขียว ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร สมุนไพร สารสกัด อาหารการแพทย์ อาหารอนาคต
“ตอนนี้คณะทำงานได้เข้าไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นแล้ว คาดการณ์ว่าภายในกลางเดือนกันยายน 2566 จะได้เห็นขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น”
สำหรับกระบวนการประกาศเขตนวัตกรรมโดยหลักการ หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ประกาศ หากไม่ได้ขออนุญาตตามขั้นตอนในพื้นที่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ทางภาครัฐประกาศไว้ กฎบัตรไทย จึงจำเป็นต้องยื่นเอกสารเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยเนื้อหาในเอกสารที่ยื่นขอหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
1.การขอให้รัฐบาลลงทุนโครงการพื้นฐาน 2.สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ การเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการ การลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะต้องไม่น้อยไปกว่าสิทธิประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกาศไว้ 3.เงินทุนสนับสนุนงานวิจัย
“นอกจากภาครัฐจะมอบสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังต้องจัดสรรงบประมาณในการทำการวิจัย โดยงบฯวิจัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ดูแลเขตนวัตกรรม ร่วมกับคณะทำงานกฎบัตรไทย ดำเนินการให้ธุรกิจเอกชนที่ลงทุนบริเวณนั้นสามารถเข้าไปใช้งบฯวิจัยได้ อาจร่วมลงทุนงบประมาณกัน
เช่น ภาครัฐ 90% เอกชน 10% ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ การตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อพัฒนาธุรกิจที่ลงทุนในบริเวณดังกล่าว จะสามารถพัฒนาโปรดักต์และผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้”
นายฐาปนายังกล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ 8,000 ไร่ของเขตนวัตกรรรม เป็นที่ดินของเอกชนหลายแปลงรวมกัน แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สามารถสร้างอาคารได้ไม่เกิน 500 ตร.ม. ซึ่งจะขอแก้ผังเมืองรวม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเขตนวัตกรรมแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุน
ทั้งนี้ หากเขตนวัตกรรมนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ก็จะมีภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในเขตต่อเนื่องไปอีก 5 ปี เช่น บริษัท เนเจอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิค จำกัด ที่วางแผนการลงทุนไว้ในมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วางแผนงบฯลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัท ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ จำกัด มีแผนจะลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกษตรแบบสมาร์ทแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณอำเภอไพศาลี มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 700 ไร่ มุ่งพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อาทิ การผลิตซิลิกา ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่จะนำไปใช้ผลิตกระจก แว่นกันแดด เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในต้นปี 2567
นายฐาปนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับอนุมัติเขตนวัตกรรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ ในพื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์แล้ว 3,400 ไร่ และได้รับอนุมัติเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมมูลค่าสูง จำนวน 5,000 ไร่ ที่ อ.ตาคลี ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว หากเขตพื้นที่อำเภอไพศาลีได้รับอนุมัติด้วย ต่อไปในอนาคตจังหวัดนครสวรรค์จะมีเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมมูลค่าสูง 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 13,000 ไร่
นอกจากนี้ กฎบัตรไทยจะมีการยื่นขออนุมัติเขตนวัตกรรมทั้งหมด 14 จังหวัด ได้แก่ 1.สงขลา 2.กระบี่ 3.พังงา 4.ภูเก็ต 5.ชลบุรี 6.นครราชสีมา 7.ขอนแก่น 8.อุดรธานี 9.เชียงราย 10.เชียงใหม่ 11.ลำพูน 12.กำแพงเพชร 13.นครสวรรค์ และ 14.ชัยนาท
ผู้สื่อข่าวรายงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากฎบัตรไทยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน 9 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงขลา เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และชลบุรี ได้ยกร่าง “แผนยุทธศาสตร์เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของจังหวัด และแผนยุทธศาสตร์เขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพระดับจังหวัด” เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งได้เสนอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub)
โดยขออนุมัติหลักการ 1.ให้มีการประกาศเขตนวัตกรรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ ตามมติบอร์ด medical hub ซึ่งประกาศรับรองไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 มี 3 ประเด็น ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน
2.โครงการอุดรธานีเมืองการแพทย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์มะเร็งเป็นศูนย์การแพทย์แม่นยำในภูมิภาคอินโดจีน 3.การประกาศระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย จำนวน 8 ระเบียงเศรษฐกิจ โดยให้จัดสร้างเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพจำนวน 9 บริเวณ
พร้อมยกร่างกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ที่มีความเป็นเลิศด้านการผลิตและการบริการของอุตสาหกรรมเวลเนส และพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูง และเพิ่มกลไกใหม่ในการกระตุ้นพลิกฟื้นเศรษฐกิจ