ค้นหา

เตือนชาวนาระวัง แมลงดำหนามกัดกินต้นข้าวช่วงแตกกอ แนะใช้ปุ๋ยไนโตรเจนให้เหมาะสม

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 328 ครั้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวนาปลูกข้าวระยะนี้ เฝ้าระวังแมลงดำหนามเข้าทำลายผลผลิต แนะหมั่นสำรวจแปลงนา กำจัดวัชพืช และใช้ปุ๋ยไนโตรเจนตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพบแมลงดำหนามเข้าทำลายนาข้าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ช่วงระยะข้าวนาปีเริ่มแตกกอพร้อมให้ผลผลิต ดังนั้น ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีในช่วงนี้ ซึ่งข้าวอยู่ในระยะแตกกอ เฝ้าระวังแมลงดำหนามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งปลูกข้าวเป็นหลัก ให้หมั่นสำรวจแปลงนา และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอยู่เสมอ ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของแมลงศัตรูพืชดังกล่าว ตลอดจนใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช อันจะส่งเสริมให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง ทำให้ศัตรูเข้าทำลายได้ยากขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า สำหรับแมลงดำหนาม เป็นศัตรูข้าวที่มักจะกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวบริเวณใบข้าว ทั้งที่เป็นระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย มีวงจรชีวิตรวม 1-2 เดือน โดยตัวหนอนจะชอนใบจนเห็นเป็นรอยแผ่นขุ่นขาวขนานกับเส้นทางใบ และตัวเต็มวัยจะแทะผิวใบเป็นรอยขูดขาวขนานตามทางใบคล้ายคลึงกัน ทำให้ใบข้าวเสียหาย หากถูกทำลายรุนแรงเป็นจำนวนมาก ใบข้าวจะแห้งเป็นสีน้ำตาลเหมือนรอยไฟไหม้ ทำให้ผลผลิตลดลง

นายเข้มแข็ง กล่าวถึงวิธีการสังเกตว่า ให้สำรวจบริเวณกอข้าว แมลงดำหนามข้าวตัวเต็มวัย จะมีปีกแข็งสีดำและมีหนามแข็งแหลมปกคลุมลำตัว ความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ตัวเมียชอบวางไข่บริเวณปลายใบข้าวอ่อน ซึ่งตัวเต็มวัยนี้จะมีอายุประมาณ 14-21 วัน วางไข่ได้ประมาณ 50 ฟอง ส่วนตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่แล้ว มีลำตัวแบนสีขาว สามารถกัดกินเนื้อเยื่อภายในผิวใบข้าว สร้างความเสียหายต่อไปได้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า วิธีป้องกันและกำจัด นอกจากเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาข้าวอย่างสม่ำเสมอในช่วงเช้าและช่วงเย็น ตลอดจนไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากจนเกินไป และกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงนาและคันนาแล้ว เกษตกรยังควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนไข่ และแตนเบียนหนอนด้วย เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของศัตรูพืชในวงกว้าง

นายเข้มแข็ง กล่าวด้วยว่า หากสำรวจพบตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามข้าวมากกว่า 2 ตัวต่อกอหรือกลุ่มต้นข้าว ควรใช้สารกำจัดฉีดพ่น เช่น ฟิโพรนิล หรือคลอไทอะนิดิน อัตราตามที่ฉลากแนะนำ หรือถ้าพบการระบาด ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมการระบาด และสกัดกั้นไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นได้เท่าทันต่อสถานการณ์.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2724001