ค้นหา

จับตา‘ถั่วเหลือง-พริก-สมุนไพร’ พืชเศรษฐกิจอนาคตตลาดต้องการสูง

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 4,319 ครั้ง

อาชีพเกษตรกรยังคงเป็นอาชีพหลัก ของคนไทย เชื่อว่าหลายๆ คนยังอยากรู้ว่าหากจะทำอาชีพการเกษตรแล้วควรจะปลูกอะไรดี ลองมาหาคำตอบจากงานนี้ดู

เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ Pre Top Form พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ณ ห้องประชุม อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด กิจกรรมครั้งนี้ได้กระแสตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและประชาชน มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ให้เกียรติเปิดเวทีด้วย Special Talk หัวข้อ “จับตาพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน” ว่า ภาคเกษตรไม่มีใครรู้จริงเท่าคนที่ลงมือทำ หรือไม่มีคนรู้จริงเท่ากับเกษตรกร แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ สศก. เป็นเหมือนเนวิเกเตอร์ภาคเกษตร จึงอยากแสดงมุมมองของหน่วยงานทำนโยบาย

พืชเศรษฐกิจในมุมของผมต้องมี 5 หลักคิด คือ 1.ตลาดต้องการ สามารถขายได้ในประเทศและส่งออกได้ 2.ผลตอบแทนหรือราคาขายต้องคุ้มค่า เกษตรกรหรือผู้ที่จะปลูกต้องมีองค์ความรู้ในการเพาะปลูก

3.สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพราะเครื่องจักรช่วยประหยัดต้นทุน เพราะค่าแรงงานถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลแทน

4.สามารถเพิ่มคุณค่าได้ ต้องขอย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ผมมีโอกาสไปเป็นทูตเกษตรประจำญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นไม่มีสมุนไพรเลย แต่สามารถนำเข้าสมุนไพร อาทิ ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้นชัน ไปวิจัยพัฒนาให้เป็นเวชภัณฑ์ ขายได้ราคาสูงมากกว่า 100 เท่า และ 5.พื้นที่ต้องเหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

หากพื้นที่ไม่เหมาะสมไปเพาะปลูกพืชก็จะได้ผลผลิตไม่เป็นตาม ที่ตลาดต้องการ หรือคุณภาพต่ำ

เลขาธิการ สศก. ยังได้กล่าวถึงกลุ่มพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่มีตลาดแน่นอน นำเข้าปีละ 3-3.5 ล้านตัน ปัจจุบันราคาสูง 21-25 บาท/ก.ก.

“พริก” ตลาดมีความต้องการสูง นำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 37% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“สมุนไพร” ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าของตลาดโลกกว่าปีละ 370,000 ล้านบาท เป็นได้ทั้งพืชอาหาร ความงาม และทางการแพทย์ และมีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าที่หลากหลาย

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” มีตลาดแน่นอน นำเข้าปีละ 1.5 ล้านตัน ปัจจุบันราคาสูง 9-10 บาท/ก.ก. ความชื้นไม่เกิน 14.50%

และกลุ่มสินค้า Functional Food ซึ่งตลาดมีความต้องการมาก ในประเภทผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตร เครื่องดื่ม และอาหาร

“การทำการเกษตรและการปลูกพืชควรศึกษาข้อมูลรอบด้านให้ดี ทั้งวิธีการผลิต ผลตอบแทนความต้องการของตลาดและความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ ความสำเร็จในการทำเภษตรที่มีรายได้สูง”

ในงานสัมมนา ยังมีช่วงพูดคุยเรื่อง “กลเม็ด ดันพืชเศรษฐกิจให้ได้คุณภาพและทำเงิน” นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อน BCG Model ภาคเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา หวังยกระดับผลผลิตเกษตรให้มีมาตรฐานสูง ทั้งด้านคุณภาพ คุณค่าโภชนาการ ความปลอดภัย ระบบการผลิตที่ยั่งยืน และการแปรรูปเพิ่มมูลค่า สามารถกำหนดราคาขายได้

ด้าน รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะใช้ไผ่พัฒนาประเทศ ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งไผ่เป็นพืชอเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

ไผ่เป็นไม้โตเร็ว มีส่วนร่วมขจัดปัญหาความยากจน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ใบไผ่ใช้เป็นเครื่องดื่ม ยา ปุ๋ย อาหารสัตว์ ผงสี หน่อใช้เป็นอาหาร เหง้า/ราก ใช้ทำประติมากรรม อนุรักษ์ดินและน้ำ

ลำต้นส่วนปลายใช้ทำเครื่องจักสาน ไม้อัด ตะเกียบ เสื่อ งานฝีมือ ลำต้นส่วนโคนใช้ทำไม้พื้น ไม้ฝา งานก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์และ ไม้สังเคราะห์ ประเทศไทยมีการส่งออกไม้ไผ่และผลิตภัณฑ์จากไผ่ ปีละ 500 ล้านบาท

ต่อด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อ “ล้วงลึก เทคนิค เกษตรกรมือฉมัง” โดย นายธันย์ปวัฒน์ เศวตภัทรวาทิน ประธานวิสาหกิจชุมชนโกโก้ระนอง ผู้ก่อตั้ง บริษัท คาเคาโอ้-โกโก้ จำกัด กล่าวว่า ปี 2562 ตนเองมีแนวคิดอยากทำธุรกิจเพื่อชุมชน จึงรื้อฟื้นการปลูกพืช ท้องถิ่นภาคใต้ คือโกโก้พันธุ์ลูกผสมชุมพร 1 ขึ้นมาใหม่

และจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนโกโก้รายแรก ของไทย ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้โกโก้แบบครบวงจร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้รับความนิยมในจังหวัดระนอง คาดหวังให้ คนไทยได้ดื่มเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ที่ผลิตจากเมล็ดโกโก้จากเกษตรกรไทย 100%

นายโชคดี ปรโลกานนท์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกร ผู้คร่ำหวอดในวงการไผ่ครบวงจร จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเอง ใช้ประโยชน์จากไผ่สร้างรายได้ในทุกมิติในทุกช่องทาง ตั้งแต่ในเรื่องของการทำเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

การปลูกไผ่ให้ได้คุณภาพและผลผลิตดี เริ่มต้นที่การจัดการสวนไผ่ให้มีระบบระเบียบ ศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องสายพันธุ์ไผ่ ผู้ปลูก อย่าด่วนใจร้อนที่จะตัดหน่ออ่อนมากิน แต่ควรปล่อยให้หน่อขึ้นไปตามธรรมชาติเสียก่อน

หลังปลูกได้อายุ 2 ปี ไผ่จะให้ผลผลิตที่พร้อมให้ใช้ประโยชน์ได้ ลำไม้ไผ่ที่ขายราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเส้นผ่านศูนย์กลาง แต่ความยาวของไผ่เท่ากัน 6.50 เมตร อย่างไผ่เลี้ยงราคาลำละ 150 บาท ไผ่ซางหม่นราคาลำละ 350 บาท และไผ่ตงลำละ 800-1,000 บาท

นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชา จ.นนทบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน ของเรามุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องกัญชา กัญชง ทุกมิติแก่ประชาชน เพื่อเป็นแนวทางประกอบอาชีพเสริมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

จากความเชี่ยวชาญด้านฟาร์มกัญชาของเราพัฒนาสู่มาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ (GACP) for Medicinal Cannabis V.2 ได้รับการตรวจรับรองจากบริษัท SGS โดย Auditor จากประเทศโคลัมเบียและประเทศไทย เมื่อ 28-29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

หวังว่าข้อมูลข้างต้นจะจุดไอเดียให้นำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7899356