ค้นหา

“ธรรมนัส” ควง 2 รมช.ลงพื้นที่อุบลฯ สั่งเร่งระบายน้ำท่วม หาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว

https://mgronline.com/politics/detail/9660000088265
เข้าชม 291 ครั้ง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำสถานการณ์อุทกภัย พร้อมพบปะประชาชน มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) 15 ราย มอบเวชภัณฑ์ถุงยังชีพและหญ้าพระราชทาน แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพ ที่สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง และหอประชุมประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ภายหลังเกิดสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล จนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน และพื้นที่การเกษตร 9 อำเภอใน จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ แยกเป็นด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ รวม 3 ตำบล 26 ชุมชน/หมู่บ้าน 913 ครัวเรือน 3,218 คน ราษฎรอพยพ 18 ชุมชน 301 ครัวเรือน 1,079 คน แยกเป็นจุดพักพิงชั่วคราว 15 จุด 269 ครัวเรือน 997 คน พักบ้านญาติ 32 ครัวเรือน 85 คน

ด้านการเกษตร พื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ แบ่งเป็นด้านพืช ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 9 อำเภอ รวม 47 ตำบล 204 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัยฯ 6,793 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัยที่คาดว่าจะเสียหายรวมทุกชนิดพืช 46,387.75 ไร่ แบ่งเป็น 1.ข้าว 44,993 ไร่ 2.พืชไร่และพืชผัก 724.25 ไร่ และ 3.ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ 670.50 ไร่วงเงินที่คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือ 64,438,819 บาท โดยประมาณการตามหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือฯด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน เกษตรกร 22 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 25.70 ไร่ และด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ รวม 8 ตำบล 17 หมู่บ้าน 8 ชุมชน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 244 ราย การอพยพสัตว์ ประกอบด้วย โค 994 ตัว กระบือ 434 ตัว สุกร 161 ตัว ไก่พื้นเมือง 5,972 ตัว ไก่ไข่ 12 ตัว ไก่เนื้อ 1 ตัว เป็ดไข่ 8 ตัว เป็ดเนื้อ 2,917 ตัวแพะ 2 ตัว นกกระทา 4 ตัว ห่าน 1 ตัวรวม 10,506 ตัว และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหาย 71 ไร่

อย่างไรก็ดี กรมชลประทาน ได้ใช้อาคารชลประทานทางตอนบนของแม่น้ำชี (เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง) และแม่น้ำมูล (เขื่อนราษีไศล) เพื่อหน่วงน้ำและผันเข้าระบบชลประทาน นำไปเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนตอนกลางจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ก่อนจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขงในอัตรา 3,372.5 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที นอกจากนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งบูรณาการร่วมกับกองบิน 21 มณฑลทหารบกที่ 22 และชาวบ้าน เสริมแนวกระสอบทราย 4,000 ใบ จัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/761883