ปัจจุบัน “สมุนไพร” เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสมุนไพรมีความปลอดภัย รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายมีการส่งเสริมให้ใช้สมุนไพร ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยารักษาโรค
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรตำบลหนองคู ได้รวมกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ต.หนองดู อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เพื่อปลูกพืชสมุนไพร พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้เป็นทางเลือกใหม่ที่สำคัญในชุมชน ในการอนุรักษ์และขยายผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 50 ราย รวมพื้นที่ 101 ไร่
นางภูมิใจ หมอเมือง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรตำบลหนองคู กล่าวว่า พืชสมุนไพรของกลุ่มฯ อาทิ ขมิ้นชัน ใพร เพชรสังฆาต ฟ้าทะลายโจร รางจืด ขมิ้นอ้อย และกระเจี๊ยบ ซึ่งแปลงสมุนไพรของสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วทุกแปลง ทั้งนี้กลุ่มฯ เน้นการปลูกแบบ “ตลาดนำการผลิต” โดยส่งเป็นวัตถุดิบแบบสมุนไพรบดผงให้กับโรงงานฟาร์มแคร์ ฟาร์มาซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และแบบสมุนไพรอบแห้ง สมุนไพรสดแก่โรงงานยาทั่วประเทศ รวมทั้งรับจ้างแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้น เช่น สมุนไพรตากแห้ง สมุนไพรบด ให้กับคู่ค้าที่ไม่มีโรงตาก หรืออุปกรณ์ในการแปรรูป
นอกจากนี้ กลุ่มฯ ยังได้นำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “ชลไพร” อาทิ แชมพูสมุนไพร สบู่เหลว สบู่ขมิ้นชัน สบู่สครับผิวสูตรมะขาม สครับขมิ้นไพรสด โลชั่นทาผิวสมุนไพร ยาหม่องขมิ้นชัน ยาหม่องตะไคร้หอม ยาฟ้าทะลายโจร (แคปซูล) ชาสมุนไพร โดยกระบวนการแปรรูปสมุนไพร ผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ มีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ รวมไปถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภค ในปี 2566 ทางกลุ่มฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการของ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) “โครงการยกระดับและส่งเสริมการนำมาตรฐาน GMP ไปปฏิบัติใช้ในสถานประกอบการ” ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ขั้นตอนในการพัฒนาโรงผลิตและแปรรูป เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร: การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (มกษ.9023-2564) รวมถึงมาตรฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติตัวในโรงผลิตและแปรรูป พร้อมให้คำแนะนำในการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นไลน์การผลิตที่เป็นสัดส่วนและได้มาตรฐาน ในส่วนของการปรับแก้ไขสถานที่ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 40%