ค้นหา

สยามคูโบต้า เปิดตัว “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม
เข้าชม 470 ครั้ง

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม ต่อยอดความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SKCE) เปิดตัว “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เตรียมเดินหน้าเป็น Smart Faming Model ศูนย์กลางการบริหารจัดการฟาร์มที่ชูจุดเด่นของชุมชนด้านศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชหลังนา เกษตรทฤษฎีใหม่ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผนวกจุดแข็งขององค์ความรู้โซลูชันด้านนวัตกรรมการเพาะปลูก และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยของกลุ่มวิสาหกิจฯ มาปรับใช้ภายในฟาร์มตลอด 6 โซนการเรียนรู้ บนพื้นที่ 5 ไร่ พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดไปสู่ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกษตรกรที่สนใจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานเปิดงานกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สยามคูโบต้าได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาให้แก่วิสาหกิจชุมชนฯ ผักไหม จนกลายเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการทำเกษตรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังมีการปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของพี่น้องชาวศรีสะเกษด้วย สำหรับจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่เกษตรกรรม 3.7 ล้านไร่ คิดเป็น 67 % ของพื้นที่ทั้งหมด เรามีนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ การสร้างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก โครงการ Smart Farming รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ซึ่งจังหวัด ศรีสะเกษก็พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเพื่อสร้างโอกาสและความยั่งยืนแก่พี่น้องเกษตรกร

นายจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นของสยามคูโบต้าที่มีแนวคิดให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง เราจึงเข้าไปร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่มีจุดเด่นและศักยภาพในการต่อยอดมาเข้าร่วม “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” เพื่อสร้าง “ชุมชนต้นแบบ” ทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสยามคูโบต้าได้เริ่มเส้นทางการพัฒนาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ ก่อตั้ง โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า -ผักไหม ในปี 2554 โดยเริ่มจากการเข้าไปให้องค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง อาทิ การทำเกษตรปลอดการเผา การปลูกพืชหลังนา จนเข้าสู่ระยะเสริมความแข็งแกร่งได้มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงโซลูชันต่างๆ เข้าไปพัฒนา อาทิ เกษตรครบวงจร (KUBOTA (Agri) Solutions) หรือ KAS ปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar Online ที่ช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของภัยธรรมชาติ และท้ายที่สุดคือการพัฒนาเป็นกลุ่มต้นแบบ Smart Farming Model ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้สนใจ

อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้าพร้อมร่วมต่อยอดให้ผักไหมฟาร์มเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์และแรงบันดาลใจไปยังพี่น้องเกษตรกรและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น พร้อมเผชิญความท้าทายอย่างเข้มแข็ง สร้างอาชีพและรายได้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย

นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2554 ที่สยามคูโบต้าได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการให้แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและมูลค่าสินค้า วิธีการทำตลาด ตลอดจนพัฒนาบุคลากรในชุมชนจนสามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – ผักไหม ให้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรและผู้ที่สนใจจนถึงวันนี้แล้วกว่า 10,000 คน จนถึงวันนี้สมาชิกเกษตรกรผักไหมได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในมาตรฐานอินทรีย์ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ถั่วเขียว ปอเทือง กระเจี๊ยบแดง โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่ได้รับมาตรฐานแฟร์เทรด พร้อมทั้งนำผลผลิตต่าง ๆ มาแปรรูปเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้เพิ่ม

วันนี้เราได้พัฒนาไปอีกขั้นกับการเป็น “ผักไหมฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน ต้นแบบ Smart Farming Model ที่นำ “จุดแข็ง” ของพื้นที่และน้อมนำพระราชดำริฯ แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ภายใต้ 6 โซนการเรียนรู้ ได้แก่ โซนพืชผัก โซนข้าวและพืชหมุนเวียน โซนสระน้ำเพื่อการเกษตร โซนพืชผสมผสานสร้างรายได้ โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร และโซนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ในวันนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของเกษตรกรชาวผักไหมในการพัฒนาชุมชนและฟาร์มให้ดีขึ้น พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนอื่น ๆ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่อาชีพเกษตรกรของเรา

สำหรับพื้นที่ภายในผักไหมฟาร์มมีทั้งหมด 5 ไร่  แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่

1. โซนพืชผัก ศึกษาระบบการเพาะปลูกพืชผักมูลค่าสูงและผักสวนครัวให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน โดยพืชที่ปลูกได้แก่ กรีนโอ๊ค  บัดเตอร์เฮด กะเพรา แมงลัก โหระพา แตงกวา ถั่วฝักยาว สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีเฉลี่ย 10,000 บาท/ ปี

2. โซนข้าวและพืชหมุนเวียน ศึกษาระบบการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง โดยใช้เครื่องจักรกลเกษตรคูโบต้าตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดินจนถึงขั้นตอนเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมเน้นการทำเกษตรเพื่อเข้าสู่การเป็น Net Zero Emission สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 44,700 บาท/ พื้นที่ 2.2 ไร่

3. โซนสระน้ำเพื่อการเกษตร กักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง สามารถกักเก็บน้ำได้ ประมาณ 3,700 ลบ.ม. พื้นที่เก็บน้ำ 1.5 งาน นอกจากนี้ยังสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลา 1,000 -2,000 บาท/1 ฤดูกาลปลูกข้าว

4. โซนพืชผสมผสานสร้างรายได้ เน้นการปลูกพืชหลากหลาย และใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพ โดยทำการศึกษาระบบการเพาะปลูกพืชที่เกื้อกูล ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ และสมุนไพร ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีการให้น้ำด้วยระบบ IoT และนำเครื่องจักรกลเกษตรคูโบต้าเข้ามาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนแรงงาน สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 70,300 บาท/ ปี

5. โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนในการดึงน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินมากักเก็บในถังพักน้ำขนาด 50,000 ลบ.ม. เพื่อบริหารจัดการในฟาร์มสำหรับใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศในฟาร์ม มุ่งสู่การเป็นพลังงานสะอาด (Green Energy)

6. โซนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสินค้าชุมชน อาทิ แครกเกอร์แป้งข้าว แยมกระเจี๊ยบ ข้าวสาร สบู่น้ำนมข้าว เป็นต้น ช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน และสร้างได้รายเฉลี่ย 300,000 บาท/ ปี

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จะมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรที่เหมาะสมมาติดตั้งเพิ่มเติม รวมถึงตั้งเป้าขยายการเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ผักไหมฟาร์ม ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชหลังนา เกษตรทฤษฎีใหม่ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้วยองค์ความรู้ด้านโซลูชันด้านนวัตกรรมการเพาะปลูก และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรพร้อมถ่ายทอดไปยังเกษตรกรและผู้สนใจทั่วประเทศแล้ววันนี้ ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหมตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/485512