ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานเสวนา “สร้างนวัตกรรมด้วยแรงบันดาลใจ เพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรกรไทยในเวทีโลก” เนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยทักษิณ สถาปนาครบรอบ 55 ปี วันที่ 1 ตุลาคม 2566 และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ณ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ตลอดจนเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรจะต้องมุ่งไปที่การปรับตัว เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม โดยนำนวัตกรรมทางการเกษตร มาใช้เป็นกลไกของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการใช้เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาภาคเกษตร และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดที่รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระดับราคาของสินค้าการเกษตร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ในการเร่งดำเนินการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพยายามประสานงานทุกภาคส่วน และทําหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมมาช่วย จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนการทำโรดโชว์เพื่อหาตลาดใหม่ และขับเคลื่อนผ่านทูตเกษตร ทั้งนี้ สินค้าเกษตรมูลค่าสูงคือกุญแจสําคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการยกระดับความสามารถในการผลิตให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ โดยใช้กระบวนการและวิธีการสมัยใหม่ในการลดต้นทุนและการควบคุมคุณภาพ อาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่า ในการสร้างแบรนด์ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่รวมขององค์ความรู้และนวัตกรรม” รมว.ธรรมนัส กล่าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนเพื่อให้นโยบายของรัฐบาลมุ่งสู่ความสําเร็จ อาทิ 1) การยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร โดยผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง 2) ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายโดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง 3) ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร 4) สร้างครอบครัวเกษตร บูรณาการงานเข้มแข็ง 5) การรับมือภัยธรรมชาติ และ 6) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG และ Carbon Credit เป็นต้น
ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณมหาวิทยาลัยทักษิณที่จะช่วยกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ในการยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ทําการเกษตรประมาณ 1.4 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ หากทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันในการพัฒนา เชื่อว่าจะเป็นจังหวัดต้นแบบที่ดีในการนําไปขยายความสําเร็จให้กับจังหวัดอื่นได้ต่อไป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 10 ราย เยี่ยมชมนิทรรศการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง นิทรรศการโครงการสำคัญด้านการเกษตร และมอบเสบียงอาหารสัตว์พร้อมถุงยังชีพด้วย