ค้นหา

ภาคเกษตร ปักธงลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯพร้อมเตรียมประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะ 5 ปี ในปลายปีนี้

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
เข้าชม 385 ครั้ง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศ (climate system) เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศโลก เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนและในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายจนเป็นที่น่ากังวลในปัจจุบัน ซึ่งจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือที่เรียกว่า COP26 ในปี 2564 ประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลกได้ประกาศเจตจำนงยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20 – 25 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 (2573) โดยเป็นการดำเนินการภายในประเทศ ร้อยละ 30 และหากได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศ จะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีกร้อยละ 10 ซึ่งผลจาก COP26 นำไปสู่การปรับปรุงเป้าหมาย “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contribution: NDC) อันเปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาว่าประเทศไทยจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ประกาศไว้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาคเกษตรในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกเฉกเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า ประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 373 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจากภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งมากที่สุด 261 ล้านตันฯ (ร้อยละ 70) รองลงมาคือ ภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ (ร้อยละ 15) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 38 ล้านตันฯ (ร้อยละ 10) และภาคของเสีย 17 ล้านตันฯ (ร้อยละ 5)

หากพิจารณาในส่วนของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ จะพบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด 29 ล้านตันฯ (ร้อยละ 51) รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน 13 ล้านตันฯ (ร้อยละ 22) การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์  11 ล้านตันฯ (ร้อยละ 19) การจัดการมูลสัตว์ 3 ล้านตัน (ร้อยละ 6) และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร 1 ล้านตัน (ร้อยละ 2)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักและร่วมขับเคลื่อนภารกิจตามเป้าหมาย NDC และภารกิจการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร จึงเป็นที่มาของการบรรจุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯ ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้งของกรมการข้าว และกรมชลประทาน การนำของเสียจากมูลสุกรของภาคปศุสัตว์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าของกรมปศุสัตว์ การลดใช้ปุ๋ยเคมีด้วยแอปพลิเคชั่นรู้จริงพืชดินปุ๋ย (TSFM) และโครงการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ผสมปุ๋ยใช้เองของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งโครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตของกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคเกษตรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก.

ด้านนางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของสารสนเทศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” ประกอบด้วยพันธกิจ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร 2) มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว 3) พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) พัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนและทุกระดับ และ 5) ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้สนใจต้องการทราบรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.oae.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยี ทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  โทร. 0 2579 0627 ในวันและเวลาราชการ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/news/97132