ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งกรมหม่อนไหมบูมผ้าไหมทุกขั้นตอนการผลิต แปรรูปและการตลาดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เล็งชูเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ฟื้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ชุมชน
ที่ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะติดตามผลการดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 ส.ส.ประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 นายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาและเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงาน
บรรยากาศการเยี่ยมชมเป็นไปด้วยความชื่นมื่น มีประชาชนชาวอำเภอคำม่วงแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมแพรวารำต้อนรับ และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประยุกต์และแปรรูปจากผืนผ้าไหมแพรวาที่ถักทอด้วยมือหรือหัตถกรรมที่นำมาสวมใส่ชุดร่ายรำ มาจัดนิทรรศการผ้าไหมแพรวา รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นราชินีแห่งไหม ซึ่งมีต้นกำเนิดที่บ้านโพน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกลุ่มอาชีพทอผ้าไหมแพรวาสาธิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมสีไหมด้วยวัสดุจากธรรมชาติ การทอผ้าไหมด้วยมือ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของการผลิตผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยสีสันและความคึกคัก ซึ่งเป็นนิมิตหมายในการต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากที่ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวาบ้านโพนว่างเว้นการต้อนรับคณะรัฐมนตรีมานานกว่า 10 ปี
สำหรับศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทผ้าไหมแพรวาบ้านโพน หรืออีกชื่อหนึ่ง ศูนย์วิจิตรแพรวาบ้านโพน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ภายในศูนย์ประกอบด้วย 1. หอชมเมือง ด้านบนชั้นสองเป็นพื้นที่ชมภาพและถ่ายภาพมุมสูงของโครงการและชุมชนบ้านโพน 2. อาคารต้อนรับของโครงการพื้นที่ภายในมีส่วนพักคอย ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชม 3. อาคารนิทรรศการพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาผู้ไทบ้านโพน ชั้นล่างจัดแสดงหุ่นปั้นวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ของชุมชนบ้านโพน ชั้นสองจัดเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน 4. อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชน
ชั้นล่างเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชั้นบนเป็นห้องสมุดและห้องเรียนวัฒนธรรมชุมชน 5. อาคารหอประชุมใหญ่ ขนาด 350 ที่นั่ง สามารถใช้จัดประชุม อบรมความรู้ด้านต่างๆ จัดสัมมนาและงานเลี้ยงในวาระต่างๆ ของชุมชน 6. อาคารสำนักงานวิสาหกิจชุมชน เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นศูนย์อำนวยการ ส่วนสำนักงานห้องประชุมขนาดเล็ก ส่วนติดต่อประสานงาน ส่วนจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลชุมชน
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมหม่อนไหมมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผ้าไหมแพรวาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อยกระดับผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่เกิดจากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นทั้งจากการคัดเลือกพันธุ์หม่อนไหมที่มีคุณภาพ คิดค้นประดิษฐ์ลายใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคทุกระดับทั่วไปในราคาที่เข้าถึงและจับต้องได้ โดยล่าสุดทราบว่าทางอำเภอคำม่วงได้คิดค้นลายผ้าไหมแพรวาใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2565 เป็นลายประจำอำเภอคำม่วง คือลายพรรณมหาพัน มูลค่ากว่า 5 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพผู้ผลิตผ้าไหมแพรวากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการกรมหม่อนไหมดำเนินการสนับสนุนการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์หม่อนไหมที่มีคุณภาพ การคิดค้นลายการทอ การแปรรูป การจำหน่าย นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการจัดการเดินแบบ อีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระจายของเม็ดเงิน และสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาทั่วประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์มีเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตหม่อนไหม กับกรมหม่อนไหม จำนวน 2,156 ราย มีพื้นที่แปลงหม่อน 706 ไร่ แบ่งเป็น ผู้ปลูกหม่อน 252 ราย เลี้ยงไหมหัตถกรรม 345 ราย เลี้ยงไหมอุตสาหกรรม 40 ราย ผู้ทอผ้า 1,500 ราย ร้านค้าผ้าไหม 19 ร้านค้า มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านหม่อนไหม 162 กลุ่ม มี Smart Farmer ด้านหม่อนไหม จำนวน 67 ราย ผลิตรังไหมได้ประมาณ 21,000 กิโลกรัมต่อปี สามารถผลิตเป็นเส้นไหม ได้ 2,100 กิโลกรัมต่อปี และนำมาทอเป็นผ้าไหมได้ไม่น้อยกว่า 10,000 เมตรต่อปี รวมรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท
การผลิตผ้าไหมของจังหวัดกาฬสินธุ์ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตผ้าไหมแพรวาซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าภูไท ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนบนของจังหวัด และมีการผลิตกันหนาแน่นใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำม่วง สามชัย สมเด็จ และสหัสขันธ์ ซึ่ง “ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ถือเป็นราชินีแห่งผ้าไหมที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ทอผ้า และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหม ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านหม่อนไหมทั้งระบบ ได้ให้การสนับสนุน การพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหมแพรวาโดยมีโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบลวดลายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด การรับรองมาตรฐานผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทาน การส่งเสริมการตลาด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม รวมถึงการสืบสาน สร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและชุมชน เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาการทอผ้า ให้คงอยู่ในชุมชนตลอดไป ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ รักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย
โดยที่ จ.กาฬสินธุ์ พระองค์ทรงรับกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาเข้ามาอยู่ในโครงการศูนย์ศิลปาชีพ เช่นที่เทศบาลตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการต่อยอดและขยายผลอาชีพผลิตผ้าไหมแพรวาให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน