ค้นหา

เกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 ยื่นเปลี่ยนเป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” ได้แล้ววันนี้

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
เข้าชม 452 ครั้ง

เลขาธิการ ส.ป.ก. เผย เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ถือครอง ส.ป.ก.4-01 นานไม่ต่ำกว่า 5 ปี ยื่นเปลี่ยนเป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” ได้แล้ววันนี้ โดยระยะเวลาถือครองตรวจสอบได้หลายทาง เกษตรกรสามารถยื่นได้ที่สำนักงาน ส.ป.ก.ทุกจังหวัด และออนไลน์ แจกฉบับแรก 15 ม.ค. 67

จากที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหนังสืออนุญาต ส.ป.ก.4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ อาทิ 1) การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 2) สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด 3) ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก.กำหนด 4) สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 5) ต้องถือครอง ส.ป.ก.4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย หนังสืออนุญาต ส.ป.ก.4-01 รวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่

ล่าสุด นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี การนับ 5 ปี สามารถตรวจสอบได้หลายช่องทาง อาทิ รายชื่อที่ประกาศ ณ ที่ทำการผู้ปกครองท้องที่/วันที่ลงใน ส.ป.ก.4-01 ฉบับแรก ก่อนแบ่งแยก หรือสอบถามได้ที่ ส.ป.ก.จังหวัด

สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียม คือ ส.ป.ก.4-01 (ฉบับผู้ถือ) หรือสำเนาสัญญาเงินกู้ ธ.ก.ส. (กรณีผู้กู้เงิน ธ.ก.ส.), บัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถยื่นความประสงค์ได้ที่ ส.ป.ก.ทุกจังหวัด, หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ของ ส.ป.ก. และระบบ Online Website ส.ป.ก. เกษตรกรสามารถขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกจะสามารถแจกให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2741116