ค้นหา

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 240 ครั้ง

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่รายงานว่าขณะนี้ประเทศไทยยังคงถูกปกคลุมด้วยมวลอากาศเย็น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่เผชิญกับมรสุม ทำให้มีฝนตกหนักและหนักมากในบางพื้นที่ รวมทั้งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้พี่น้องเกษตรกรที่เผชิญกับภาวะอากาศเย็น ชื้นและมีฝนทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี ตรัง พังงา สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดระนอง ในระยะนี้ควรเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราไปยังจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีแนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้น มักพบโรคดังกล่าวระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูง และเชื้อราสาเหตุของโรค สามารถแพร่กระจายโดยลม ฝน การเคลื่อนย้ายกล้าพันธุ์หรือวัสดุปลูกในแปลงที่เกิดโรค และมีพืชอาศัยค่อนข้างกว้าง เช่น วัชพืช สมุนไพร พืชผักสวนครัว ไม้ผลบางชนิด และพืชจำพวกเฟิน เป็นต้น ทำให้เชื้อสาเหตุสะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น เกษตรกรจึงควรหมั่นสังเกตเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมถึงศึกษาแนวทางป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี

เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา เกิดขึ้นในใบแก่ เริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำค่อนข้างกลมบริเวณใต้ใบ ผิวใบด้านบนบริเวณเดียวกันเป็นสีเหลือง และขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีคล้ำขอบแผลดำ จนกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลถึงขาวซีด รูปร่างแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ มีจำนวนจุดแผลมากกว่า 1 จุด อาจเจริญลุกลามซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ระยะรุนแรงใบเหลืองและร่วงในที่สุด กรณีเกิดการเข้าทำลายของเชื้อรารุนแรงอาจเกิดอาการแห้งตายจากยอดได้ รวมถึงอาจทำให้ใบยางพาราร่วงในขณะที่อาการของจุดแผลบนใบยังไม่พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อซีดขาว

เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม

วิธีป้องกันกำจัด ควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกชุก หากพบต้นยางพารามีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบร่วง ให้ตรวจสอบอาการของโรคบนใบ หลีกเลี่ยงการนำกล้ายางพาราหรือวัสดุปลูกจากแหล่งที่พบการระบาดสู่พื้นที่ หมั่นทำความสะอาดสวนกำจัดวัชพืช และเสริมความแข็งแรงให้ต้นยางพาราโดยใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของยางพาราด้วย กรณีพบโรคแล้วให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านหรือพ่นในสวน การหว่านให้ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับการพ่น ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำหรือน้ำหมักชีวภาพ อัตรา 200 ลิตร โดยหว่านหรือพ่นให้ครอบคลุมใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน ทุก 3 เดือน เพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคที่สะสมอยู่ในดิน ซึ่งการใช้เชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือน้ำหมักชีวภาพจะช่วยบำรุงให้ต้นยางพาราแข็งแรงขึ้น

เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม

“หากจำเป็นต้องพ่นสารเคมีกำจัดโรคควรใช้ตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทยและกรมวิชาการเกษตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไดฟีโนโคนาโซล + โพรพิโคนาโซล 15%+15% W/V EC อัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โพรคลอราซ 45% W/V EW อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 2 มิลลิลิตร โดยฉีดพ่นพุ่มใบยางพาราจากใต้ทรงพุ่ม อัตรา 150-200 มิลลิลิตร/น้ำ 200 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10-15 วัน ทั้งนี้ ควรเริ่มพ่นเมื่อยางพาราแตกใบใหม่หลังฤดูกาลผลัดใบปกติและใบอยู่ในระยะเพสลาด ตลอดจนคำนึงเรื่องการใช้ระบบกรีดยางตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด”

เตือนชาวสวนยางภาคใต้ เฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราเพิ่มขึ้นช่วงมรสุม
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/industrial-drop/100533