ผู้เขียน ญาณิศา อิ่มซะ
“เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คุณแม่ผมเสียด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คิดว่า คุณแม่ผมก็ไม่ได้มีสุ่มเสี่ยงทางด้านอื่นๆ เพราะครอบครัวชอบกินผัก ผลไม้ อาจจะเป็นเพราะเรามองข้ามเกี่ยวกับสารตกค้าง มองเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวก็อาจจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า สิ่งที่เรามองว่าไกล ที่จริงมันอาจจะไม่ได้ไกลขนาดนั้น จึงเป็นที่มาของการทำแอปสินค้าเกษตร Kaspy ที่ช่วยทำให้คนตระหนักถึงปัญหาเรื่องสารตกค้าง”
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสินค้าหลายๆ อย่างไม่ได้มีช่องทางจำหน่ายเพียงช่องทางเดียว ผู้ขายส่วนใหญ่หันมาขายออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่ผู้ขายสามารถสร้างหน้าร้านของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีหน้าร้าน เรียกได้ว่าเป็นช่องทางการขายสำคัญในยุคปัจจุบันและถือเป็นการเพิ่มกลุ่มผู้ซื้อให้กว้างขึ้น
สำหรับเกษตรกรในยุคปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่หันมาปลูกผักอินทรีย์กันมากขึ้น แต่เกษตรกรบางคนปลูกได้ผลผลิต แต่หาตลาดไม่ได้ จะสร้างยอดขายของตัวเองยังไง
“Kaspy” เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ที่รวบรวมสินค้าที่หลากหลาย สามารเลือกช้อปได้ 24 ชั่วโมง อัดแน่นไปด้วยสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรไร้สาร โดยเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาขายเอง เพื่อขับเคลื่อนวงการออร์แกนิกให้เติบโตอย่างยั่งยืน
คุณรังสิ ทุวิรัตน์ หรือ คุณอั๋น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคสปี้ จำกัด ก่อนที่จะเกิดแอปนี้ขึ้นมา คุณอั๋น เล่าให้ฟังว่า “เป็นปัญหาที่มีมานาน ทำไมเกษตรกร 100% ถึงมีคนลุกขึ้นมามีตาอ้าปากได้จริงๆ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คนที่มีตาอ้าปากได้จริงๆ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าใจโลกโซเชียล เข้าใจการทำแบรนด์ดิ้ง เข้าใจการทำการตลาดให้กับตัวเอง เป็นปัญหาเดิมที่ตกมาสู่พ่อค้าคนกลางที่มีเงิน มีอำนาจการสั่งซื้อจำนวนเยอะๆ แล้วกดราคาจากเกษตรกร”
ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ที่เริ่มทำยังไม่มีแอปเยอะเหมือนปัจจุบัน ทำยังไงที่เป็นการช่วยเพิ่มช่องทางให้กับเกษตรกร ให้เขามองว่าในการที่จะต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางก็คงอาจจะต้องพึ่งต่อไป แต่อาจจะแบ่งผลผลิตบางจำนวนขายกับแพลตฟอร์มซึ่งทำให้เกิดการสร้างคู่ค้า หรือว่าลูกค้าใหม่ๆ ได้ทั่วทั้งประเทศดีกว่าไหม
ที่มาของชื่อ “Kaspy” มาจาก (Kaset) เกษตร + (Happy) มีความสุข ตัดเหลือ “Kaspy” เป็นคำที่มีความหมาย ที่เราต้องการสร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ให้เขามีความสุขที่มากขึ้น มีรอยยิ้มที่กว้างขึ้น คุณอั๋น ยังบอกอีกว่า “ถ้าเกษตรกรขายสินค้าได้อันนี้ก็คงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ มีความสุขที่ดีขึ้นได้”
ถ้าอยากรู้ว่าสินค้าที่ซื้อจากเกษตรกรแต่ละเจ้ามีมาตรฐานอะไร ถ้ามีมาตรฐานเป็น GAP หรือเป็นออร์แกนิก ถ้าออร์แกนิกอยู่ในระดับไหน เช่น มาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) เป็นเกณฑ์มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ขั้นต่ำ สินค้าอินทรีย์เพื่อการนำเข้า หรือ USDA (U.S. Department of Agriculture) เป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสินค้าที่จัดเป็น Organic ตามมาตรฐาน USDA วัตถุดิบที่นำมาใช้จะต้องเป็นพืชที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี พืชที่ปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์
เป้าหมายจริงๆ คือต้องการให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่อง Food Safety เป็นหนึ่งในประเด็นหลัก ที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำตัวแอป “Kaspy” เท้าความก่อนว่าแอป Kaspy ไม่ใช่ธุรกิจหลัก แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คุณแม่ผมเสียด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คิดว่า คุณแม่ผมก็ไม่ได้มีสุ่มเสี่ยงทางด้านอื่นๆ แต่ครอบครัวชอบกินผัก ผลไม้ อาจจะเป็นเรื่องที่เรามองข้ามเกี่ยวกับสารตกค้าง มองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เอาจริงๆ พอเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวก็อาจจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า สิ่งที่เรามองว่าไกล ที่จริงมันอาจจะไม่ได้ไกลขนาดนั้น จึงเป็นที่มาของการทำแอปสินค้าเกษตรที่ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาเรื่องสารตกค้างนั่นเอง
ธุรกิจหลักของผม จะทำเรื่อง Branding Agency เป็น Production House คุณอั๋นจะนำความรู้ที่มีไปสอนให้เกษตรกรรู้จักการสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง โดยจะลงพื้นที่เอง
“จริงๆ แล้วเกษตรกรคนที่ทำเป็น กับเกษตรกรคนที่ทำไม่เป็น โอกาสในการทำเรื่องเหล่านี้มีเท่ากัน อยู่ที่ว่าคุณจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เท่ากัน สามารถทำประโยชน์ให้กับตัวเองยังไงได้บ้าง” คุณอั๋นเสริมในส่วนของการสร้างตัวตนของเกษตรกร
มีการวางโครงสร้างหมวดหมู่สินค้าที่ค่อนข้างครอบคลุมถึง 14 หมวดหลัก มีการแบ่งหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น สินค้าปลอดภัย, สินค้าไร้สาร, สินค้าอินทรีย์ และสินค้า Kaspy คัดสรร รวมสุดยอดสินค้าที่ผ่านการคัดเลือกในหลายๆ ด้าน เรียกว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม ค้นหาง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน
ถึงแม้สินค้าส่วนใหญ่จะเน้นเป็นออร์แกนิก แต่ทางคุณอั๋นยังบอกอีกว่า “ไม่ได้ปิดกั้นคนที่ปลูกผักใช้สารเคมี เราวางโครงสร้างที่ให้ทุกคนเข้ามาขายกับเราได้ แต่จะผลักดันสินค้าที่เป็นออร์แกนิก” โดยการที่มีการแบ่งกลุ่มพิเศษขึ้นมา ชื่อว่า “Kaspy คัดสรร” เป็นมาตรฐานผู้ขายที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพดี ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการบริการที่ดี ไว้เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีใบรับรองมาตรฐานออร์แกนิก
เหตุผลที่ไม่ได้มีการปิดกั้น เนื่องจากต้องการดึงคนกลุ่มที่ใช้สารเคมีอยู่ เข้ามาอยู่ในสังคมของเรา ค่อยๆ ชูว่าทำไมคนที่ทำเกษตรแบบออร์แกนิกถึงมีความเข้าใจเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ด้วยตัวเขาเอง ทำไมถึงมีแฟนคลับที่คอยซื้อสินค้าอยู่เป็นประจำ ทำไมถึงขายของได้ง่าย ท้ายที่สุดมันก็จะย้อนกลับมาที่มีความตั้งใจพัฒนาผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพดี สู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการทำคอนเทนต์ด้านการเกษตรด้วย ชื่อว่า เกษตรสุข สุขเพราะเกษตร ตอนที่ทำแอปขึ้นมาใหม่ๆ เท้าความก่อนว่า คุณอั๋นไม่ได้เป็นเกษตรกร เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจฝั่งผู้ซื้อฝั่งเดียวอาจจะไม่รอด ฉะนั้นถ้าทำแอปขึ้นมา แอปจะมีสองด้านเสมอ ฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย
คุณอั๋น ยังบอกอีกว่า เราอาจจะพอเข้าใจเพราะเราเองก็เป็นผู้ซื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการคือ เข้าหากลุ่มเกษตรกรฝั่งที่เป็นผู้ขาย ทำความเข้าใจเขาและลงพื้นที่ เพื่อการเก็บข้อมูลว่า “ลุงครับ ป้าครับ ถ้าผมทำแอปนี้ขึ้นมา จากหน้านี้ไปหน้าต่อไปลุงทำได้ไหม ป้าเข้าใจรึเปล่า ถ้าเกิดป้าไม่เข้าใจ ป้าคิดว่าควรทำเป็นยังไง” ซึ่งจะมีการทำคอนเทนต์เหล่านี้ การลงพื้นที่ทุกๆ ครั้งก็จะเป็นการโปรโมตแอปภายในตัว แล้วก็เป็นการเข้าหาเกษตรกรด้วยเช่นกัน
ผู้ขายส่วนใหญ่ที่อยู่ในแอปจะเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในโลกของการซื้อขายผ่านระบบโซเชียลหรือว่าอีคอมเมิร์ซ บางทีเขาอาจจะไม่เคยทำมาก่อน แต่ทางทีมก็มีการจัดเวิร์กช็อปที่ทำให้รู้จักตัว “Kaspy” ขึ้นมา ถ้าเกษตรกรสนใจก็สามารถนำสินค้ามาวางขายที่แอป Kaspy ได้เลย
นอกจากนี้ ยังมีการขยายตลาด โดยการขายแบบ B2C (Business to Consumer) คือธุรกิจที่ขายสินค้าระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้บริโภคเป็นหนึ่งใน Segment ที่โฟกัส และขยายส่วน B2B (Business to Business) เจ้าของธุรกิจกับเจ้าของธุรกิจด้วยกัน ซึ่งตอนนี้มีการหากลุ่มที่เป็นโรงเรียน โรงแรม พวกร้านอาหารต่างๆ แล้วก็มีการทำ Food Service ที่ทำกับธุรกิจที่เป็นเชิง B2B มากขึ้น ตอนนี้มีลูกค้าที่เป็น B2B อยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งต้องการรณรงค์ที่ทำยังไงให้ร้านอาหารทั่วๆ ไป ที่ยังใช้ผักที่มีสารเคมีอยู่ให้ค่อยๆ หันมาฟังและได้ทำงานร่วมกัน
ค่อยๆ ยกระดับมาตรฐานให้เป็นผักที่ไม่ใช้สารเคมี คุณอั๋น เล่าให้ฟังว่า “หน้าที่ของผมก็ต้องเข้าใจในฝั่งของผู้ซื้อด้วย ถ้าเราอยากขายผักที่ดีแต่ราคาแพงเกิน เขาก็ไม่ซื้อ ฉะนั้นจึงมีการทำงานร่วมกันระหว่างผมกับเกษตรกรในกลุ่มของเรา ถ้าคุณส่งผมในราคาที่ต่ำผมยอมกิน Margin ที่น้อย เพื่อให้โครงการนี้เริ่มไปได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านอาหารหลายๆ เจ้า ที่เริ่มมาสนับสนุนในสิ่งที่เราทำกันเล็กๆ พวกนี้” สิ่งแวดล้อมก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าเกิดเกษตรกรหันมาทำออร์แกนิกกันมากขึ้น
คุณสมบัติหลักที่ทาง Kaspy ให้ความสำคัญเป็นเรื่อง “มาตรฐาน” อาจจะเป็นในรูปแบบที่มีใบรับรอง หรือไม่มีใบรับรองก็ได้ ช่วงที่ได้ลงพื้นที่ไปทำคอนเทนต์ เจอปัญหาว่าเกษตรกรบางคนที่ทำออร์แกนิกจริงๆ แต่ไม่มีใบรับรอง ถ้าเกษตรกรทำออร์แกนิกแต่ไม่มีใบรับรองถ้าทางผมรู้จักหรือได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรคนนั้น เราจะเอาตัวเองเป็นผู้รับรองให้กับผู้ซื้อบางคนที่เขาเชื่อมั่นในจุดยืนของ Kaspy ว่าผักที่ปลูกออร์แกนิกจริงๆ
คุณอั๋น ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ถ้าเราไม่อุดหนุนคนกลุ่มนี้ สมมติเขาอยากขายผักโลละ 200 คนปลูกผักออร์แกนิกขายโลละ 300 บาท คนที่ปลูกผักเคมีขายโลละ 100 บาท ถ้าเราไม่สนับสนุนคน 200 บาท ท้ายที่สุดเขาก็อาจจะกลับไปใช้เคมีเหมือนเดิม” ซึ่งจุดยืนของ Kaspy ต้องการแปลงคนที่ใช้เคมีให้ค่อยๆ เรียนรู้ผันตัวมาเป็นเกษตรอินทรีย์ให้ได้ในที่สุด ซึ่งจะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถขายสินค้าได้
จุดเด่นของแอป Kaspy
1. มีการบ่งบอกมาตรฐานที่ชัดเจน พวกของสดจะมีใบรับรองที่บ่งบอกว่าเกษตรกรเจ้านี้ หรือว่าสินค้าตัวนี้มีใบรับรองเป็น GAP เป็นออร์แกนิกชนิดไหนก็ตาม หรือไม่มีใบรับรองอะไรก็ตาม ผู้ซื้อสามารถเลือกดูตรงนั้นได้ เกษตรกรก็ต้องยืนยันด้วยใบรับรองที่ยังไม่หมดอายุซึ่งทางทีมจะมีการตรวจสอบเช็กทุกๆ ปี
2. มีโครงสร้างหมวดหมู่ที่ครอบคลุมสินค้าเกษตร ที่เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับแอปอื่นๆ
3. เก็บค่า GP ที่ไม่แพงเพียง 15% จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินค้าขายได้เท่านั้น
คุณอั๋น เท้าความให้ฟังว่า ด้วยความที่มีความรู้ทางด้านแบรนด์ดิ้ง ทางโปรดักชั่น พอเจอเกษตรกรที่มีความตั้งใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งก็จะเกิดผลดีกับตัวเขาเอง เกิดผลดีกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม จนเชื่อว่าสินค้าพวกนี้ดีจริงๆ ทางทีมจะมีการช่วยทำวิดีโอคอนเทนต์ ช่วยโปรโมตเขาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีหมวดหมู่อย่าง Kaspy Now ถ้าเกษตรกรมีสินค้าที่ดี ก็จะถูกรวบรวมสินค้ามาอยู่ที่ช้อปเล็กๆ ที่ซอยอารีย์ เพื่อเป็นโอกาสที่ได้รวบรวมสินค้าจาก Section Kaspy Now มันก็เหมือนในการที่มีช้อปย่อยๆ อยู่ สามารถสั่งออนไลน์ได้ ซึ่งจะตอบโจทย์คนที่ซื้อในกรุงเทพฯ เพราะสามารถส่งให้กับผู้ซื้อได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมง
หลังจากที่แอปเปิดตัวไป ผลตอบรับจากผู้ใช้งาน คุณอั๋น เล่าให้ฟังว่า “คนก็มักจะพูดว่า ชอบ มีสินค้าที่หลากหลายดี มาที่เดียวสามารถเลือกซื้อได้หลากหลาย ชอบที่มีการบ่งบอกมาตรฐานสินค้าแต่ละตัว มีทีม Customer Service ที่โทร.มาแล้วเจอคนไม่ใช่เสียงรอสายอัตโนมัติ เรื่องเคลมค่อนข้างจะเคลมเร็ว ช่วงนี้ที่เราปรับระบบอาจจะมีการล่าช้า มีปัญหาทางการจ่ายเงินบ้าง แต่พอเราอัปเวอร์ชั่นเป็น 2.0 ขึ้นไป เราค่อนข้างมั่นใจว่าความเร็วและความเสถียรดีขึ้นค่อนข้างเยอะมาก”
หากเกษตรกรหรือผู้ขายที่สนใจ สามารถโหลดแอป Kaspy บน IOS และ Android สามารถสร้างร้านค้าได้เลย การสร้างหน้าร้านไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่าจะมีค่า Fee (ส่วนแบ่งหรือค่าคอมมิชชันที่ร้านค้าจ่ายให้แก่แอปพลิเคชัน) เกิดขึ้นเมื่อสินค้าขายได้เท่านั้น ทางเราจะกิน GP อยู่ที่ 15% (ซึ่งปัจจุบันแอปอื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณ 30-35%) แต่ของทาง Kaspy เพียง 15% เท่านั้น
อยากฝากอะไรกับคนที่สนใจอยากเข้ามาขายในแอป Kaspy
อยากจะฝากบอกว่า อยากให้มอง Kaspy เป็นหนึ่งในช่องทางเลือก พอมาเป็นผู้ขายในระบบนี้มันก็จะเป็นการที่เราเปิดโอกาสให้กับตัวเองเพื่อให้คนได้มาเจอสินค้าของคุณได้มากขึ้น แทนที่จะขายแค่ในพื้นที่ชุมชน เอาสินค้ามาสร้างร้านค้าทำให้เจอคนที่หลากหลายขึ้น เจอคนในพื้นที่ไกลออกไป ถ้าเกิดเรียนรู้การตลาดได้ดี ก็อาจจะมีแฟนคลับมาคอยซื้อซ้ำอยู่ตลอดเวลา
หากเกษตรกรคนไหนสนใจสามารถโหลดแอปสร้างร้านค้าของตัวเองได้เลยไม่มีค่าใช้จ่ายในการสร้างร้าน อีกทั้งยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สนใจสินค้าเกษตร เรียกได้ว่าครบจบในที่เดียว และยังสามารถพูดคุยกับเกษตรกรแต่ละร้านค้าได้เลย ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติ่ม ถือว่าเป็นช่องทางให้กับเกษตรกรที่ไม่รู้ว่าจะขายใคร ซึ่ง Kaspy เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และทำให้เพิ่มช่องทางการขายนอกจากออฟไลน์ยังมีออนไลน์ที่คนที่อยู่ไกลแค่ไหนก็สามารถซื้อสินค้าในแอปได้ มีบริการจัดส่งให้ถึงบ้าน