ค้นหา

นักวิจัย ม.เกษตรฯ คิดค้น หุ่นยนต์กรีดยาง เพียงตัวเดียวกรีดได้ทั้งสวน ลดการใช้แรงงานทุกขั้นตอน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 585 ครั้ง

ประเทศจีนผู้นำเทรนด์เกี่ยวกับนวัตกรรม โดยหุ่นยนต์กรีดยางของจีน ต้องติดตั้ง 1 ตัวต่อ 1 ต้น ถ้าสวนยางพารามีพันต้นต้องใช้ทั้งหมดพันตัว ยิ่งจำนวนต้นยางเยอะต้องใช้การติดตั้งที่หลายตัว เลยนำจุดด้อยมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์กรีดยางที่ใช้เพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้นสามารถกรีดยางได้ทั้งสวน

ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นการออกแบบและพัฒนากลไกกรีดยางพารา หรือหุ่นยนต์กรีดยาง โดยนำจุดด้อยมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เกษตรกรกรีดยาง ช่วยลดการใช้แรงงาน เพียงแค่มีตัวเดียวก็สามารถกรีดยางได้ทั้งสวน

โดยแนวคิดการออกแบบมาจากวิ่งบนสลิง ข้อดีของการวิ่งบนสลิง คือสามารถสโลปได้ สามารถเข้าโค้งได้อีกด้วย พื้นที่ลาดชันก็ไม่ใช่ปัญหา โดยที่ต้นยางทุกต้นจะมีตัวประกบช่วยยึดตำแหน่งที่แน่นอน สิ่งที่ยากจะอยู่ที่ช่วงที่กรีด ทำยังไงให้กรีดที่ชั้นเนื้อเยื่อเท่านั้น โดยที่ไม่โดนแก่น ดังนั้น จึงต้องมีเซ็นเซอร์คอยเช็ก

หลังจากที่หุ่นยนต์กรีดยางเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหุ่นยนต์เก็บน้ำยาง ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาในส่วนนี้อยู่ต้องรอติดตาม โดยการออกแบบใช้รางเดียวกัน หลังจากนวัตกรรมชิ้นนี้สำเร็จสมบูรณ์ จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุจากโลหะเป็นพลาสติกจะทำให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงและเพื่อช่วยป้องกันในฤดูฝน ทนน้ำ ทนแดด

ระยะเวลาในการใช้หุ่นยนต์กรีดยาวต่อ 1 ต้น จะใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วินาที โดยใช้พลังงานจากแหล่งไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ปั่นไฟ โซลาร์เซลล์ หรือใช้ไฟบ้านก็ได้ แปลงเป็น DC 24v ก็สามารถเข้าได้ในระบบนี้ 

หลายๆ คนอยากทราบถึงราคาของนวัตกรรมชิ้นนี้ ถ้ามีการจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท ถ้าเทียบกับราคาของจีนจะตกอยู่ที่เครื่องละ 4,000-8,000 บาท ซึ่งถ้าของจีนราคาถูกก็จริงแต่ต้องติดตั้งทุกต้น ถ้าเทียบกับนวัตกรรมหุ่นยนต์กรีดยางของไทยลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้ได้กับทุกต้นในสวน และท้ายที่สุดคาดว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 2-3 ปี

งานวิจัยหุ่นยนต์กรีดยาง มีระยะเวลาในการทำวิจัย 3 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองและพัฒนาระบบให้แม่นยำ ปัจจุบันพัฒนามาได้ประมาณ 1 ปี หลังจากนี้จะนำไปทดลองภาคสนามสวนยางพารา เพื่อหาจุดที่ต้องนำมาแก้ไขต่อไป

หากสนใจนวัตกรรมหุ่นยนต์กรีดยาง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก : ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ I2TAC หรือ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_270251